BOI เผย 7 เดือนผู้ผลิตซอฟท์แวร์ตั้งฐานพัฒนาระบบในไทยเกือบ 700 ลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 28, 2015 10:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกิจการด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงเดือน กรกฎาคม 2558 ที่ผ่านมา บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้วถึง 107 โครงการ
เงินลงทุนรวมกว่า 668 ล้านบาท

กิจการที่ได้รับอนุมัติส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ ที่มุ่งอำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน และตอบสนองการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ เช่น การพัฒนาระบบเกมบนโทรศัพท์มือถือ ซอฟต์แวร์รองรับระบบโทรคมนาคม 4G การพัฒนาระบบบอกพิกัดช่วยติดตามตัวบุคคลสำหรับธุรกิจประเภทต่างๆ เช่น การประกันภัย การเงินการธนาคารซอฟต์แวร์สำหรับระบบบอกพิกัดของสถานที่สำคัญ ๆ ในประเทศไทย และซอฟต์แวร์ที่ใช้พัฒนาระบบข้อมูลหรือระบบประมวลผลขนาดใหญ่ (Big data) ขององค์กร

นอกจากนี้ยังมีกิจการพัฒนาแอพพลิเคชั่นสำหรับเปรียบเทียบราคาสินค้า การจัดทำระบบซื้อขายสินค้าออนไลน์ ซอฟต์แวร์สำหรับสื่อโฆษณามัลติมีเดียแนวใหม่ รวมถึงซอฟต์แวร์เพื่อยกระดับการศึกษาด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการเรียนการสอน และการผลิตการ์ตูนแอนิเมชัน เป็นต้น

“การลงทุนในกิจการซอฟต์แวร์มีทั้งการต่อยอดจากกิจการเดิม และการลงทุนใหม่ โดยมุ่งเน้นพัฒนาระบบให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลง หรือกระแสการพัฒนาเทคโนโลยีของโลก ซึ่งแม้การลงทุนแต่ละโครงการมีมูลค่าไม่สูงนัก แต่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจได้อย่างมาก รวมถึงสอดรับกับเป้าหมายของ บีโอไอที่เน้นส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในประเทศ โดยปัจจุบันนอกจากกิจการซอฟต์แวร์จะมีกลุ่มที่ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศ ยังมีกลุ่มนักลงทุนไทยจำนวนมากที่กลายเป็นผู้พัฒนาระบบเองจนติดหนึ่งในระดับภูมิภาค ที่นักลงทุนต่างประเทศสนใจเข้าร่วมลงทุนเพื่อต่อยอดการพัฒนาระบบให้มีศักยภาพยิ่งขึ้น" นางหิรัญญา กล่าว

นางหิรัญญา กล่าวว่า แนวโน้มการขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการซอฟต์แวร์มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีกิจการที่น่าสนใจได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้วและบีโอไออยู่ระหว่างการพิจารณาหลายโครงการ เช่น กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับระบบเก็บเงินออนไลน์ (Billing system) ของรถไฟฟ้า เพื่อให้มีลักษณะเป็นบัตรร่วมสามารถใช้กับระบบคมนาคมอื่น ๆ ได้หลากหลาย รวมถึงโครงการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศที่ขอขยายโครงการเพื่อพัฒนาระบบซอฟต์แวร์สำหรับโปรแกรมวิเคราะห์และประมวลผลทางการเงินแบบครบวงจร ซึ่งคาดว่าการลงทุนดังกล่าวจะทำให้ไทยเป็นฐานของการประมวลผลระบบการเงินของบริษัทในเครือจากทั่วโลก และจะก่อให้เกิดการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้นอีกมาก หลังจากในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้จ้างทีมพัฒนาซอฟต์แวร์คนไทยไปแล้วมากกว่า 700 คน

ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนในกิจการซอฟต์แวร์ อยู่ในกลุ่มกิจการที่ได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลาตั้งแต่ 5-8 ปี โดยไม่กำหนดวงเงินภาษีที่ยกเว้น ซึ่งจากความสนใจลงทุนในกิจการซอฟต์แวร์ในปัจจุบัน แสดงให้เห็นถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนและตอกย้ำถึงการที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการพัฒนาซอฟแวร์ที่สำคัญของภูมิภาคอย่างแท้จริง


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ