โดยเรื่องแรก การบริหารจัดการสินค้าเกษตรหลักที่สำคัญ ได้แก่ ข้าว และมันสำปะหลัง โดยการเร่งระบายข้าวในสต็อกของรัฐ โดยคำนึงถึงผลกระทบต่อราคาข้าวในประเทศและประโยชน์โดยรวมเป็นสำคัญ ซึ่งปัจจุบันมีการระบายข้าวในสต๊อกไปแล้ว 4.7 ล้านตัน มูลค่ากว่า 51,320 ล้านบาท นอกจากนั้นยังเร่งขยายการส่งออกข้าวไปยังตลาดต่างประเทศ เพื่อสร้างรายได้เกษตรกร และช่วยพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น
เรื่องที่สอง การเร่งผลักดันการส่งออก เน้นย้ำถึงการส่งเสริมการค้าการลงทุนชายแดนและประเทศเพื่อนบ้านให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมทั้งการลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหา ณ ด่านการค้าชายแดน นอกจากนั้นยังเร่งสร้างความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการเพื่อให้ใช้ประโยชน์จากสิทธิประโยชน์ทางการค้ามากขึ้น กระทรวงพาณิชย์ ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเร่งรัดการแก้ไขปัญหาด้านการค้าชายแดนเพื่อผลักดันการค้าชายแดนและผ่านแดนของไทยมุ่งสู่เป้าหมายที่ 1.5 ล้านล้านบาทภายในปี 2558 ซึ่งขณะนี้มีสัดส่วนของมูลค่าการค้าชายแดนและการค้าผ่านแดนต่อเป้าหมายอยู่ที่ร้อยละ 59.6 โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาและอุปสรรคด้านการค้าชายแดนมาเลเซีย ซึ่งเป็นการค้าชายแดนที่มีมูลค่าถึงร้อยละ 50 ของมูลค่าการค้าชายแดนในแต่ละปี
สำหรับในปี 2558 รอบ 8 เดือน ไทยมีมูลค่าการค้าชายแดนกับมาเลเซียแล้ว 316,181 ล้านบาท โดยการส่งออกยางพาราและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มีมูลค่าลดลงเนื่องจากราคาสินค้าดังกล่าวลดลง ในขณะนี้การค้าชายแดนไทยกับประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ทั้งกัมพูชา สปป.ลาว และเมียนมา ที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง และได้กำหนดการลงพื้นที่เพื่อแก้ไขปัญหาการค้าชายแดนด้านไทย- มาเลเซีย พร้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกัน ซึ่งจากการรวบรวมประเด็นปัญหาพบว่า บางปัญหาอาจจะร่วมกันพิจารณาเพื่อแก้ไขได้ในระยะสั้น อาทิ เรื่องการจัดตั้ง Duty Free Zone เรื่องการเพิ่มจุดในการคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ด่านสะเดา และการขยายระยะเวลาเปิดด่าน เป็นต้น
เรื่องที่สาม การรองรับการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC กรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักของกระทรวงพาณิชย์ ในการเชื่อมโยงระบบ National Single Window (NSW) ร่วมหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อีก 35 หน่วยงาน ซึ่งจะมีการเชื่อมโยงข้อมูลสินค้าเพิ่มเติม 22 รายการ ภายใน 1 ตุลาคม 2558 เพื่อให้สามารถรองรับการค้าที่จะขยายตัวเพิ่มขึ้นภายหลังเข้าสู่ประชาคมอาเซียน
เรื่องที่สี่ การแก้ไขกฎหมาย กฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า ขณะนี้กรมการค้าต่างประเทศมีการปรับปรุงกฎหมายให้มีความทันสมัย ได้แก่ พระราชบัญญัติการส่งออกและนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งสินค้า พ.ศ.2522 และประกาศเรื่องกำหนดให้สินค้าที่ใช้ได้สองทางเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาต และต้องปฏิบัติตามมาตรการจัดระเบียบในการส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ.2558 ซึ่งกรมฯ ได้ดำเนินการทำความเข้าใจกับทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง