โดยที่เป็นการสมควรปรับปรุงการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 22 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตราพระราชกฤษฎีกาขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
มาตรา 1 พระราชกฤษฎีกานี้เรียกว่า “พระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 592) พ.ศ. 2558”
มาตรา 2 พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2558 เป็นต้นไป
มาตรา 3 ให้ยกเลิกประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 92/2557 เรื่อง การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557
มาตรา 4 ให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร และคงจัดเก็บในอัตรา ดังต่อไปนี้
(1) ร้อยละหกจุดสาม สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559
(2) ร้อยละเก้า สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป
มาตรา 5 ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรักษาการตามพระราชกฤษฎีกานี้
ทั้งนี้ สำหรับเหตุผลในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ คือ โดยที่ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 92/2557 เรื่อง การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ลงวันที่ 17 กรกฎาคม พุทธศักราช 2557 ได้กำหนดให้ลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 80 แห่งประมวลรัษฎากร จากอัตราร้อยละสิบ เป็นอัตราร้อยละหกจุดสาม เป็นการชั่วคราว สำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าทุกกรณี ซึ่งความรับผิดในการเสียภาษีเกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2557 ถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2558 และจัดเก็บเป็นอัตราร้อยละเก้า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศยังชะลอตัว และการใช้จ่ายของภาคเอกชนยังมีความจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนให้มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นเพื่อเป็นการผลักดันและกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชาชนมีกำลังซื้อสินค้า อันจะทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง สมควรขยายเวลาการลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจากร้อยละสิบ เป็นร้อยละหกจุดสามออกไปอีกจนถึงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2559 และลดอัตราเป็นร้อยละเก้า ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559 เป็นต้นไป จึงจำเป็นต้องตราพระราชกฤษฎีกานี้