นอกจากนี้ การถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ในทุกหมวดสินค้าจากสหภาพยุโรป การย้ายฐานการผลิต และปัญหาเชิงโครงสร้างของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทย จะกดดันให้การส่งออกของไทยในปีนี้มีโอกาสหดตัวมากกว่า 4% ซึ่งเป็นการหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 อย่างไรก็ดี การส่งออกรถยนต์ที่กลับมาขยายตัวได้ดีจากการส่งออกไปยังตลาดใหม่อย่างสหภาพยุโรปและอเมริกาใต้ อีกทั้งการส่งออกไปยังตลาด CLMV และค่าเงินบาทที่จะมีทิศทางอ่อนค่าลงต่อเนื่อง จะช่วยพยุงการส่งออกของไทยในระยะต่อไป
ล่าสุด วันนี้กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกไทยเดือนสิงหาคมอยู่ที่ 17,669 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวลงกว่า 6.7%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ด้านมูลค่าการนำเข้าอยู่ที่ 16,948 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวลง 4.8%YOY ส่งผลให้ในเดือนสิงหาคมไทยเกินดุลการค้า 721 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนสิงหาคมถูกกดดันจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงกว่า 50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า โดยได้ส่งผลกระทบถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เชื่อมโยงกับน้ำมันอย่าง น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์และพลาสติกซึ่งมีสัดส่วนราว 15% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย
ขณะที่มูลค่าการนำเข้าหดตัวน้อยลงในเดือนสิงหาคมที่เพียง 4.8% จากการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้น ถึงแม้ว่าการนำเข้าเชื้อเพลิงจะลดลงกว่า 43% ในเดือนสิงหาคมจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงกว่า 50% ทว่าการนำเข้ากลับติดลบเพียงเล็กน้อยที่ 4.8%เนื่องจากการนำเข้าสินค้าทุนที่ไม่รวมการนำเข้าเครื่องบินสามารถกลับมาขยายตัวได้ที่ 6.3% จากการนำเข้าเครื่องจักรและส่วนประกอบที่เพิ่มขึ้นกว่า 3% และเครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบที่เพิ่มขึ้น 18.1%