"ที่ทำให้ กอช.มั่นใจยิ่งกว่านั้น คือรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนประชาสัมพันธ์กระตุ้นให้ประชาชนที่มีคุณสมบัติไปตรวจสอบสิทธิ์ และให้เชิญชวนให้สมัครด้วยเพื่อประโยชน์ภายหลังอายุ 60 ปี นอกจากนี้ ธนาคารทั้ง 3 แห่งได้ให้ความร่วมมืออย่างดี โดยระดมพนักงานดำเนินการรับสมัคร ซึ่งขณะนี้ยอดผู้สมัครเข้ามาอย่างสม่ำเสมอเฉลี่ยวันละ 5,000 ราย" นายสมพร กล่าว
พร้อมระบุว่า จนถึงขณะนี้ยอดเงินที่สมาชิกส่งเข้ากองทุนมีประมาณ 281 ล้านบาท โดยผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์(ธ.ก.ส.) 189 ล้านบาท ธนาคารออมสิน 62 ล้านบาทและธนาคารกรุงไทย 30 ล้านบาท
นายสมพร กล่าวว่า จำนวนผู้สมัครทั้งหมด ธ.ก.ส. 194,000 ราย มาจากธนาคารออมสิน 87,000 ราย และ 19,000 รายมาจากธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โดยเป็นสมาชิก ภาคเหนือร้อยละ 10 ภาคกลางร้อยละ 18 ราย ภาคตะวันออกร้อยละ 5 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 59 ภาคตะวันตกร้อยละ 3 และภาคใต้ร้อยละ 5 สำหรับสมาชิกทั้งหมดนี้ ประมาณร้อยละ 75 มีอาชีพเกษตรกร ร้อยละ 12 อาชีพรับจ้างทั่วไปและอาชีพอื่นๆ ส่วนร้อยละ 10 มีอาชีพค้าขาย และนิสิต นักศึกษา ร้อยละ 3 โดยมียอดเงินฝากเฉลี่ยครั้งละ 930 บาท
อนึ่ง กอช.เป็นหน่วยงานล่าสุดที่รัฐบาลนำโดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ผลักดันจนสามารถดำเนินการรับสมัครสมาชิกได้ โดย กอช.ก่อตั้งภายใต้พระราชบัญญัติกองทุนการออมแห่งชาติ พ.ศ.2554 เพื่อเป็นทางเลือกสวัสดิการเงินบำนาญสำหรับประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระและแรงงานนอกระบบซึ่งไม่มีสวัสดิการอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับหลักประกันยามชราภาพ โดยสมาชิกสามารถสมัครได้ที่สาขาของธนาคารทั้ง 3 แห่งทั่วประเทศ เพียงยื่นบัตรประชาชนเพื่อตรวจสอบสิทธิ์การสมัครและหากมีคุณสมบัติสมัครได้ สามารถใช้เพียงบัตรประชาชนยื่นสมัครพร้อมกับเงินฝากตามกำลังของแต่ละคน แต่ต้องไม่ต่ำกว่า 50 บาท
สำหรับผู้สมัคร กอช.แบ่งสมาชิกออกเป็น 3 ประเภทได้แก่ประเภทอายุ 15 ปี ถึง 30 ปี เมื่อสมาชิกส่งเงินออมเข้าระบบ รัฐบาลจะโอนเงินสมทบในอัตรา 50% ของเงินออมแต่ไม่เกินปีละ 600 บาท ประเภทอายุ 30 ปี ถึง 50 ปี รัฐบาลจะสมทบในอัตรา 80% ของเงินออมแต่ไม่เกินปีละ 960 บาท และประเภท 50 ปี ถึง 60 ปี รัฐบาลจะสมทบในอัตรา 100% แต่ไม่เกินปีละ 1,200 บาท โดยสมาชิกทุกประเภท สามารถส่งเงินออมได้ไม่เกินปีละ 13,200 บาท และสมาชิกสามารถหยุดส่งเงินออมได้โดยสมาชิกภาพยังดำรงอยู่