สำหรับการบริโภคภาคเอกชนในเดือนสิงหาคม 2558 มีสัญญาณชะลอลงต่อเนื่องสะท้อนจากยอดภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในภาพรวมในเดือนสิงหาคม 2558 หดตัวร้อยละ -2.4 ต่อปี จากการหดตัวของภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการนำเข้า ณ ราคาคงที่ที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -5.9 ต่อปี และภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บบนฐานการใช้จ่ายภายในประเทศ ณ ราคาคงที่ขยายตัวชะลอลงที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี สำหรับการบริโภคสินค้าคงทนชะลอตัวเช่นกัน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยังคงหดตัวร้อยละ -6.4 ต่อปี แต่เมื่อหักผลทางฤดูกาลออกขยายตัวได้ร้อยละ 17.4 ต่อเดือน โดยเป็นการขยายตัวของยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ในเขตกรุงเทพฯ ที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ต่อปี สำหรับในเขตชนบทหดตัวชะลอลงร้อยละ -8.6 ต่อปี ตามผลของรายได้เกษตรกรที่ยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -13.0 ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งยังคงหดตัวที่ร้อยละ -24.0 ต่อปี
อย่างไรก็ดี ปริมาณนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภค ยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 10.4 ต่อปี ในขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับเศรษฐกิจโดยรวมยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยอยู่ที่ระดับ 61.5 จากความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ กอปรกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ อีกทั้งปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลต่อความเสียหายแก่ผลผลิตสินค้าเกษตรทำให้กำลังซื้อของประชาชนยังคงไม่ดีขึ้น
ด้านการลงทุนภาคเอกชนในเดือนสิงหาคม 2558 มีสัญญาณทรงตัว โดยเฉพาะการลงทุนภาคเอกชนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากภาษีจากการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนสิงหาคม 2558 ยังคงขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 8.4 ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ หดตัวชะลอลงร้อยละ -0.6 ต่อปี แต่เมื่อหักผลฤดูกาลออกขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.1 ต่อเดือน อย่างไรก็ดี การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์กลับมาขยายตัวเป็นบวกเป็นเดือนแรกที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี หลังจากที่หดตัวติดต่อกันต่อเนื่อง 27 เดือนนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2556 และเมื่อหักผลทางฤดูกาลออกขยายตัวร้อยละ 2.8 ต่อเดือน ส่วนหนึ่งเนื่องจากมีงาน Bangkok International Grand (BIG) Motor Sale ช่วงวันที่ 1-9 สิงหาคม 2558 และการเร่งซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์จากการที่จะมีการปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ใหม่ในวันที่ 1 มกราคม 2559 สำหรับปริมาณนำเข้าสินค้าทุนกลับมาขยายตัวที่ร้อยละ 17.9 ต่อปี และเมื่อหักสินค้าพิเศษเครื่องบินเรือรถไฟ พบว่า ขยายตัวที่ร้อยละ 10.4 ต่อปี
สถานการณ์ด้านการคลังในเดือนสิงหาคม 2558 พบว่า การใช้จ่ายรัฐบาลเป็นแรงสนับสนุนต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย สะท้อนจากการเบิกจ่ายงบประมาณจำนวน 148.2 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 12.2 ต่อปี โดยรายจ่ายงบประมาณประจำปีปัจจุบันสามารถเบิกจ่ายได้จำนวน 138.9 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 11.4 ต่อปี แบ่งออกเป็น (1) รายจ่ายประจำ 116.7 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 8.9 ต่อปี และ (2) รายจ่ายลงทุน 22.2 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 27.2 ต่อปี โดยมาจากกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท กรมชลประทาน และเงินอุดหนุนของรัฐวิสาหกิจ เป็นสำคัญ
สำหรับการจัดเก็บรายได้สุทธิ (หลังหักการจัดสรรให้ อปท.) จัดเก็บได้จำนวน 226.8 พันล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 10.6 ต่อปีโดยเป็นผลมาจากการนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจเพิ่มเติมเป็นสำคัญ ทั้งนี้ รัฐบาลเกินดุลงบประมาณในเดือนสิงหาคม 2558 เป็นจำนวน 26.4 พันล้านบาท
ด้านอุปสงค์จากต่างประเทศผ่านการส่งออกในเดือนสิงหาคม 2558 ยังคงหดตัวต่อเนื่องเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ที่ร้อยละ -6.7 ต่อปี จากภาพเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว ซึ่งส่งผลต่อกำลังซื้อในตลาดโลก โดยมีเพียงการส่งออกไปยังกลุ่ม CLMV และ จีนที่ขยายตัวได้อยู่ที่ร้อยละ 5.5 และ 0.4 ต่อปี ตามลำดับ สำหรับสินค้าส่งออกที่สามารถขยายตัวได้ดีมาจากกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับที่ขยายตัวในระดับสูงถึงร้อยละ 132.3 ต่อปี และการส่งออกในหมวดยานพาหนะกลับมาขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันที่ขยายตัวร้อยละ 3.6 ต่อปี
สำหรับเครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานยังคงได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในเดือนสิงหาคม 2558 ขยายตัวที่ร้อยละ 25.1 ต่อปี โดยกลุ่มนักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากภูมิภาคเอเชียตะวันออก และอาเซียน อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาผลกระทบเหตุการณ์ระเบิดในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2558 สะท้อนจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางผ่านด่านสุวรรณภูมิซึ่งคิดเป็นร้อยละ 53.5 ของด่านทั้งหมด พบว่า ช่วงวันที่ 1 - 17 สิงหาคม 2558 นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีอัตราการขยายตัวของร้อยละ 32.9 ต่อปี และหลังเกิดเหตุการณ์ พบว่ามีอัตราการขยายตัวที่ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 7.7 ต่อปี
สำหรับดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรกรรมในเดือนสิงหาคม 2558 หดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -11.1 ต่อปี ตามการหดตัวของของผลผลิตในหมวดพืชผลเป็นสำคัญจากผลผลิตข้าวเปลือก มันสำปะหลัง ข้าวโพด และปาล์มน้ำมัน โดยได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรหดตัวเช่นกันอยู่ที่ร้อยละ -3.3 ต่อปี ทำให้รายได้เกษตรกรยังคงหดตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ -13.0 ต่อปี ในด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนสิงหาคม 2558 ปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 82.4 โดยมีปัจจัยหลักจากความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลงจากการหดตัวของการบริโภคภายในประเทศโดยเฉพาะภาคเกษตรที่ราคาพืชผลเกษตรตกต่ำลง ทำให้การใช้จ่ายเป็นไปอย่างระมัดระวัง รวมทั้งเศรษฐกิจโลกที่ขยายตัวอย่างเปราะบาง
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานในเดือนสิงหาคม 2558 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.0 ของกำลังแรงงานรวมหรือคิดเป็นจำนวนผู้ว่างงาน 3.77 แสนคน ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไป หดตัวอยู่ที่ร้อยละ -1.2 ต่อปี เป็นผลมาจากการที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงยังคงทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ ประกอบกับมีการปรับลดค่าไฟฟ้า รวมถึงราคาเนื้อสัตว์ที่หดตัว เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.9 ต่อปีสำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ล่าสุด ณ สิ้นเดือนเดือนกรกฎาคม 2558 อยู่ที่ระดับร้อยละ 42.9 ต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทางการคลัง
สำหรับเสถียรภาพเศรษฐกิจภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ โดยทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2558 ที่อยู่ในระดับสูงที่ 155.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 2.9 เท่า