(เพิ่มเติม1) สศอ.เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมส.ค.ติดลบต่อเนื่อง 8.3%จากช่วงเดียวกันปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 30, 2015 14:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ส.ค.58 อยู่ที่ 155.38 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 169.41 โดยดัชนี MPI ยังคงติดลบต่อเนื่อง 8.3%

ด้านอัตราการใช้กำลังผลิตเดือน ส.ค.58 อยู่ที่ 57.77% ลดลงจาก 60.38% ของช่วงเดียวกันปีก่อน และลดลงจาก 58.67% ในก.ค.58

ขณะที่ 8 เดือน ดัชนี MPI ติดลบ 4.5% ใกล้เคียงช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อนที่ติดลบ 4.6%

นายณัฐพล รังสิตพล รองผู้อำนวยการ สศอ. เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือนสิงหาคม 2558 หดตัว 8.3% อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมรถยนต์ยังคงขยายตัวได้ดี โดยขยายตัวในระดับ 2 หลักที่ 13.3% โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลง อาทิ HDD โทรทัศน์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ ขณะที่ภาพการผลิตของประเทศในเอเชียในช่วงปี 2557 และ 2558 ที่ผ่านมายังมีทิศทางเปราะบางโดยประเทศที่ยังขยายตัวได้ เช่น มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ก็ยังขยายตัวในระดับต่ำ ขณะที่ในบางประเทศอย่างเกาหลีใต้ และ ไต้หวัน มี MPI ติดลบในบางช่วงเวลาสอดคล้องกับภาคการผลิตของไทย

การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ ยังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า แต่ตลาดส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไม่รวมทองคำแท่งในเดือนสิงหาคม 2558 หดตัว 8.2% ยังคงหดตัวต่อเนื่องตามการลดลงของการส่งออกสินค้าที่มีราคาเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันดิบ อาทิ เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์ ประกอบกับการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการปรับตัวลดลง อาทิเครื่องใช้ไฟฟ้า อิเลคทรอนิกส์ สิ่งทอ และผลิตภัณฑ์ยาง เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ยังได้รับแรงสนับสนุนจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมไปตลาดสหรัฐ ตลาด CLMV รวมถึงตลาดสหภาพยุโรปที่ขยายตัว

ในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์ การผลิตมีจำนวน 159,470 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 13.26% การจำหน่ายในประเทศ มีจำนวน 61,991 คัน ลดลง 9.94% และการส่งออกมีจำนวน 101,982 คัน เพิ่มขึ้น 13.88% โดยการส่งออกรถยนต์นั่ง มีจำนวน 38,588 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 20.96% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบยุโรป เอเชีย และอเมริกาเหนือ การส่งออกรถกระบะ 1 ตันและ PPV มีจำนวน 63,394 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 9.97% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบโอเชียเนีย ยุโรป อเมริกากลางและใต้

สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ปรับตัวลดลง 25.06% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่ปรับตัวลดลง 26.81% สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมดปรับตัวลดลง เช่น HDD Monolithic IC และ Semiconductor ปรับตัวลดลง 32.18% 18.92% และ 3.80% ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กในตลาดโลกลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง

ส่วนอุตสาหกรรมไฟฟ้า ปรับตัวลดลง 14.91% กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าเกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง เช่น เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น และเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลง 5.57% 7.68% 4.53% และ 74.45% ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ซบเซา จึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย รวมถึงได้รับผลกระทบจากตลาดส่งออกหลักที่ยังไม่ฟื้นตัว (ยุโรป และญี่ปุ่น) สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐาน การผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต ปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วนอุตสาหกรรมเหล็กนั้น การบริโภคเหล็กของไทยเดือนสิงหาคมปี 2558 มีปริมาณ 1.43 ล้านตัน ลดลง 8.92% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 0.57 ล้านตัน ลดลง 14.93% การส่งออกมีมูลค่า 64 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 5.88% สำหรับการนำเข้า 616 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 14.80% เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัวอยู่จึงทำให้กำลังซื้อลดลง

นอกจากนี้เป็นผลมาจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ลดลง จึงมีผลทางจิตวิทยาทำให้ผู้ซื้อชะลอการสั่งซื้อ ผลิตภัณฑ์เหล็กทรงแบน มีการผลิตที่ลดลงแทบทุกชนิด เช่น เหล็กแผ่นรีดร้อนชนิดม้วน และเหล็กแผ่นเคลือบสังกะสีลดลง เนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างที่ชะลอตัวลง รองลงมาคือ เหล็กแผ่นเคลือบดีบุกลดลง เนื่องจากปัญหาเหล็กนำเข้าจากจีนเข้ามาแข่งกับตลาดในประเทศ

สำหรับเหล็กทรงยาว การผลิตลดลงแทบทุกผลิตภัณฑ์ โดยผลิตภัณฑ์ที่มีการผลิตลดลงแทบทุกตัว คือ เหล็กเส้นกลม เหล็กเส้นข้ออ้อย เนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้าง ประกอบกับการแข่งขันจากเหล็กราคาถูกจากประเทศจีน ส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถแข่งขัน

ขณะที่อุตสาหกรรมสิ่งทอนั้น การผลิตเส้นใยสิ่งทอผ้าผืน และเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง 1.89% 9.60% และ 3.02% ตามลำดับ เนื่องจากการชะลอตัวของคำสั่งซื้อต่างประเทศในผลิตภัณฑ์เส้นใยสังเคราะห์ ประกอบกับผู้ใช้นำเข้าผ้าผืนจากต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายและนำเข้าในผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถผลิตได้ สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูป มีคำสั่งซื้อลดลงจากตลาดญี่ปุ่น และสหภาพยุโรปซึ่งอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว การส่งออกเดือนสิงหาคม ปี 2558 มีมูลค่าลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ 3.82% จากการลดลงในตลาดคู่ค้าได้แก่ อินโดนีเซีย จีน เวียดนาม และอินเดีย

ในส่วนผลิตภัณฑ์ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออกลดลง 9.70% ในตลาดอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม เมียนมาร์ อินโดนีเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สำหรับเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลงเช่นกัน 11.46% จากคำสั่งซื้อในตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่นลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม สศอ.จะยังคงเป้าดัชนี MPI ปีนี้ที่ 3-4% แม้ว่าช่วง 8 เดือนแรก (ม.ค.-ส.ค.58) ดัชนี MPI จะติดลบ 4.5% ซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อนที่ติดลบ 4.6% โดยสศอ.มีแผนจะปรับวิธีคำนวณฐานดัชนีครั้งใหญ่และเป็นครั้งแรกในรอบ 15 ปีนับตั้งแต่ปี 2543 เพื่อให้ค่าดัชนีสอดคล้องกับภาวะอุตสาหกรรมที่มีการปรับเปลี่ยนโดยรวมซึ่งจะทำให้ดัชนี MPI หลังการปรับฐานคำนวณใหม่จะมีความแม่นยำมากขึ้น โดยการคำนวณดัชนีใหม่จะเริ่มใช้ในการคำนวณดัชนี MPI ของเดือนต.ค.58 เป็นต้นไป

"เรากำลังจะปรับฐาน MPI ซึ่งประกอบด้วย น้ำหนักปีฐาน ตัวอุตสาหกรรมและสินค้าที่อยู่ข้างในแต่ละอุตสาหกรรม ซึ่งจะทำให้ได้ตัวเลขดัชนีสะท้อนความเป็นจริงมากขึ้น เพราะสถานการณ์ที่นี้และที่ผ่านมามีทั้งวิกฤติต่างๆและอุตสาหกรรมใหม่ๆที่เข้ามาและออกไป ซึ่งจะทำให้มีการเปลี่ยนฐานย้อนหลังทั้งหมดไปจนถึงปี 2543 ซึ่งถ้าปรับฐานและปรับประมาณการที่เดียวเลยน่าจะดีกว่า แต่ตัวเลขดัชนี MPI ทั้งปีของปี 58 น่าจะยังได้ใกล้เคียง 3-4%"

นายณัฐพล กล่าวว่า สศอ.มีแผนจะปรับฐานดัชนี MPI มานานแล้ว จึงได้มีการเก็บข้อมูลย้อนหลังไปนับสิบปี ไม่ได้เพิ่งจะมีแนวคิดที่จะปรับเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด

สำหรับอุตสาหกรรมที่จะเพิ่มเข้ามา คือ ชิ้นส่วนยานยนต์, ข้าวซึ่งเป็นสินค้าเกษตรที่ยังอยู่ใน Top10, สุรา, เส้นใยสังเคราะห์ ส่วนอุตสาหกรรมที่ปรับออกนั้นจะเป็นในลักษณะพิจารณาเป็นสินค้ารายตัว เช่น ในอุตสาหกรรมรองเท้าซึ่งมีรองเท้าหลายประเภท แต่บางประเภทเช่นรองเท้าแตะไม่น่าจะสะท้อนค่าดัชนีได้มากเท่ารองเท้ากีฬา รองเท้าหนัง ก็จะนำรองเท้าแตะออกจากการคำนวณดัชนี หรืออุตสาหกรรมเสื้อผ้าสำเร็จรูป อาจจะขมวดรวมกันทั้งหมด ทั้งชุดชั้นใน เสื้อผ้าผู้ชาย เสื้อผ้าผู้หญิง

ทั้งนี้ สาเหตุที่เปลี่ยนฐานดัชนีเนื่องจากโครงสร้างอุตสาหกรรมมีการเปลี่ยนแปลงไปทุกปี สิ่งที่จะทำให้โครงสร้างอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปคือราคาสินค้า ซึ่งปัจจุบันราคาสินค้าเพิ่มอยู่เรื่อยๆ เวลาโครงสร้างราคาเปลี่ยน แต่ถ้าไม่เปลี่ยนวิธีการในการคำนวณดัชนี้ MPI ก็จะไม่สะท้อนสถานการณ์ที่เป็นจริงในปัจจุบัน และในอนาคตอาจจะต้องเปลี่ยนแนวทางวิธีการจัดทำดัชนีทุกๆปี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ