กสิกรฯคาดหนี้ครัวเรือนสิ้นปี 58 อยู่ที่ 82-82.5%ของGDP ชะลอลงจากปีก่อน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday September 30, 2015 18:09 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนไตรมาส 3/2558 ยังเติบโตค่อนข้างจำกัด แม้ว่าบทบาทของสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งหลังของปี 2558 ต่อการเติบโตของหนี้ครัวเรือนและสินเชื่อรวมน่าจะยังทำได้ดีต่อเนื่องจากช่วงครึ่งแรกของปี เนื่องจากมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน และผู้กู้ส่วนใหญ่มีการเตรียมความพร้อมด้านสถานะทางการเงินเพื่อขอสินเชื่อค่อนข้างดี ซึ่งหนุนให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจจะยังเป็นผู้เล่นที่ปล่อยกู้ให้แก่ภาคครัวเรือนสูงสุดในช่วงไตรมาส 3/2558 และไตรมาส 4/2558

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่า สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นๆ ที่เติบโตได้อย่างเชื่องช้า โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่กดดันทั้งการเติบโตของสินเชื่อทั้งในกลุ่มธนาคารพาณิชย์และนอนแบงก์ อันเป็นผลจากทั้งนโยบายเครดิตของสถาบันการเงินที่เข้มงวดกว่าอดีต การลดวงเงินปล่อยกู้แก่กลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยง รวมถึงอุปสงค์ต่อสินเชื่อใหม่ที่อยู่ในระดับจำกัดของภาคครัวเรือนเพื่อระมัดระวังการใช้จ่ายในช่วงเศรษฐกิจชะลอ ทำให้ผลจากการเติบโตของสินเชื่อที่อยู่อาศัยถูกลดทอนด้วยการเติบโตชะลอลงของสินเชื่อรายย่อยประเภทอื่นๆ

ดังนั้น สถานการณ์หนี้ครัวเรือนในไตรมาส 3/2558 จึงยังเติบโตได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยประเมินว่าสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีจะอยู่ที่ระดับร้อยละ 81.4 - 81.8 ต่อจีดีพี และมีโอกาสขยับขึ้นอีกเล็กน้อยไปที่ระดับร้อยละ 82.0 - 82.5 ณ สิ้นปี 2558 ซึ่งคิดเป็นอัตราการเติบโตของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่ชะลอลงมาที่ร้อยละ 5.3 - 6.0 จากปีก่อนหน้า เทียบกับอัตราการเติบโตในปี 2557 ที่ร้อยละ 6.6

"ทิศทางการเติบโตของระดับหนี้ครัวเรือนที่ชะลอลงดังกล่าว ถือเป็นสัญญาณเชิงบวกที่ช่วยคลายความกังวลต่อประเด็นเชิงเสถียรภาพระยะยาวลงได้บางส่วนในขณะนี้" เอกสารเผยแพร่ระบุ

ล่าสุด ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รายงานตัวเลขหนี้ภาคครัวเรือนไทยประจำไตรมาส 2/2558 พบว่ามีจำนวนรวม 10.71 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.2 ซึ่งยังถือเป็นการเติบโตที่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงหลายปีก่อนหน้า ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทยและการระมัดระวังการอนุมัติสินเชื่อในหลายผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการ ทั้งนี้ หากเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศหรือจีดีพี (ซึ่งมีการปรับวิธีการคำนวณใหม่) แล้ว พบว่าหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี อยู่ในระดับร้อยละ 80.6 ต่อจีดีพี ซึ่งเป็นไปตามที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินไว้ในช่วงก่อนหน้า และขยับขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับร้อยละ 79.9 และร้อยละ 79.6 ณ สิ้นไตรมาส 1/2558 และสิ้นปี 2557 ตามลำดับ

โดยการปรับเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 2/2558 นี้ ยังเป็นผลจากการเติบโตของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลัก ขณะที่ สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังคงปรับลดลง ส่วนสินเชื่อเพื่อการอุปโภคและบริโภคอื่นๆ เช่น สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล มีทิศทางชะลอลงหรือค่อนข้างทรงตัวเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ทำให้บทบาทของกลุ่มนอนแบงก์ต่อการขับเคลื่อนหนี้ครัวเรือนปรับตัวลดลง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจและสหกรณ์ออมทรัพย์ ยังเป็นผู้เล่นหลักที่ปล่อยกู้ให้กับภาคครัวเรือนในไตรมาส 2/2558


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ