ทั้งนี้ บรรยากาศทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้กลุ่มประเทศในตลาดเกิดใหม่ รวมถึงประเทศไทย เผชิญกับความยากลำบากมากขึ้น แม้ว่าเสถียรภาพด้านต่างประเทศจะแข็งแกร่งกว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤติเอเชียในปี 40 แต่ปัจจัยด้านอื่น ๆ มีความผันผวนมากขึ้น ปริมาณการค้าของโลกฟื้นตัวช้ากว่าในอดีต ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยและประเทศเกิดใหม่อ่อนแอลง หนี้ภาคเอกชนที่อยู่ในระดับสูงในหลายประเทศ รวมถึงไทย เป็นปัจจัยหนึ่งที่ฉุดรั้งอุปสงค์ภายในประเทศ ขณะที่ความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศเกิดใหม่ย่ำแย่ลงเนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)เตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย
ด้านนาย Ambreesh Srivastava, Fitch's Head of Financial Institutions - South and Southeast Asia กล่าวว่า สถาบันการเงินของไทยมีปัญหาหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL)ที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกับประเทศในอาเซียนที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาสินค้าเกษตรราคาตกต่ำ แต่ธนาคารของไทยส่วนใหญ่ก็มีการกันสำรองอย่างเหมาะสม และยังมีเงินทุนแข็งแกร่ง
ขณะที่ นายพาสันติ์ สิงหะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสถาบันการเงิน(Senior Director Financial Institutions) กล่าวว่า ฟิทช์ฯ ยังคงสถานะความน่าเชื่อถือด้านต่างประเทศในระยะยาวของประเทศไทยไว้ที่ระดับ BBB+ แนวโน้ม Stable เช่นเดิม โดยพิจารณาจากภาพรวม ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบข้อมูลเดียวกันกับประเทศอื่นๆ เช่น การตั้งสำรองหนี้ระหว่างประเทศ ส่วนประเด็นเรื่องเสถียรภาพทางการเมือง หรือการกำหนดเลือกตั้งที่ล่าช้าออกไปจากเดิมนั้นไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงไปจากข้อมูลเดิมเมื่อปี 56
สำหรับปัญหา NPL ของสถาบันการเงินของไทยนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกที่ยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะปีนี้และปีหน้ายังมีความเสี่ยงที่จะมีหนี้ฯ จากกลุ่มเอสเอ็มอีค่อนข้างเยอะ แต่สถาบันการเงินของไทยมีความเข้มแข็ง และมีกำไรค่อนข้างดี จึงมีการตั้งสำรองหนี้เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ขณะที่เศรษฐกิจของไทยในอนาคตมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี