ขณะนี้มีผู้ประกอบการ SME ให้ความสนใจเข้าร่วมโครงการ และขอรับการสนับสนุนทางการเงินตามมาตรการภาครัฐจำนวนมาก ผ่านการขึ้นทะเบียนทาง เว็บไซต์ ของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) (www.sme.go.th), ศูนย์ให้บริการ SME ครบวงจร, สายด่วน 1301 ของ สสว. รวมทั้ง ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ ปัจจุบันมีจำนวนทั้งสิ้น 55,126 ราย แบ่งเป็นนิติบุคคล 34,779 ราย และไม่ใช่นิติบุคคล 20,347 ราย
"รัฐบาลขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการมาขึ้นทะเบียน เพราะนอกจากแพคเกจของภาครัฐแล้ว ยังได้รับสิทธิประโยชน์อื่นๆอีกมากมาย อาทิ การให้เงินอุดหนุน การให้คำปรึกษา การพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ การพัฒนาการตลาด ข้อมูลข่าวสารการสนับสนุน SME เป็นต้น รวมถึงรัฐบาล จะได้ทราบถึงข้อมูลการดำเนินธุรกิจ อุปสรรคปัญหาต่างๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูล สำหรับการวางนโยบายช่วยเหลือได้ถูกต้อง ตรงตามความต้องการของผู้ประกอบการ แต่จะไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูลทางด้านภาษี หรือหน่วยงานด้านภาษีตามที่กังวล"
สำหรับมาตรการช่วยเหลือ SME จำนวน 5 มาตการ ที่ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 กันยายนที่ผ่านมา ประกอบด้วย โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำร้อยละ 4 ต่อปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 7 ปี ยื่นได้ภายใน 31 ธันวาคม 2558 รวมถึง โครงการค้ำประกันเงินกู้ให้ SME ของ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งรัฐบาลจะช่วยเหลือค่าธรรมเนียมการค้ำประกัน เพื่อลดภาระต้นทุนให้กับ SME ทำให้สถาบันการเงินเกิดความมั่นใจ ในการปล่อยสินเชื่อ ถ้าเกิดความเสียหายทาง บสย.จะช่วยชดเชยให้
ขณะเดียวกัน ยังมีมาตรการร่วมลงทุนกับ SME ที่มีศักยภาพ ในระยะเริ่มต้น (Start-up) โดยความร่วมมือของธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) และธนาคารกรุงไทย แห่งละ 2,000 ล้านบาท รวม 6,000 ล้านบาท และ มาตรการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับ SME ที่มีกำไรสุทธิ ตั้งแต่ 3 แสนบาทขึ้นไป จากเดิมร้อยละ 15 และ 20 ของกำไรสุทธิ เหลือร้อยละ 10 ของกำไรสุทธิ เป็นเวลา 2 รอบบัญชีต่อเนื่องกัน และ มาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการรายใหม่ (New Start-up) ที่จดทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึง 31 ธันวาคม 2559 เป็นเวลา 5 รอบบัญชี ใน SME เป้าหมาย อาทิ กลุ่มสินค้าเกษตรแปรรูป เทคโนโลยีและนวัตกรรมขั้นสูง ฯลฯ