สำหรับคะแนนและอันดับที่ดีขึ้น คือ ด้านนวัตกรรมและด้านความพร้อมทางเทคโนโลยี ขณะที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจมหภาคลดถอยลงเล็กน้อย ฉุดค่าดัชนี
อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศตลาดใหม่และกำลังพัฒนาในเอเชีย (Emerging and Developing Asia) ซึ่งประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มนี้ ปรากฏว่า ด้านที่ประเทศไทยได้รับค่าเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มประเทศดังกล่าวอย่างเห็นได้ชัด คือ ด้านสาธารณูปโภค (Infrastructure) ด้านสภาพแวดล้อมเศรษฐกิจมหภาค (Macroeconomic Environment) ด้านความพร้อมทางเทคโนโลยี (Technological Readiness) ด้านการศึกษาขั้นสูงและการฝึกอบรม (Higher Education and Training) ด้านขนาดของตลาด (Market Size) ด้านการพัฒนาตลาดการเงิน (Financial Market Development) ด้านระดับการพัฒนาธุรกิจ (Business Sophistication) และด้านประสิทธิภาพตลาดสินค้า (Goods Market Efficiency)
ประเด็นที่น่าสนใจซึ่งแสดงถึงศักยภาพในความสามารถทางการแข่งขันของไทย คือ สัดส่วนมูลค่าการส่งออกต่อค่า GDP ที่มีค่าสูงถึงร้อยละ 75.6 ได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับที่ 18 จาก 140 ประเทศ(ดีขึ้นจากปีที่แล้ว 4 อันดับ) ส่วนขนาดของตลาดในประเทศนั้นได้รับคะแนนประเมิน 5 คะแนน (จากคะแนนเต็ม 7 คะแนน) เป็นอันดับที่ 22 ของโลกและเป็นอันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศ ASEAN+3 รองจากประเทศจีน ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ส่วนด้านตลาดต่างประเทศนั้นได้รับการประเมิน 6 คะแนน คิดเป็นอันดับที่ 14 และเป็นอันดับที่ 5 ในกลุ่มประเทศ ASEAN+3 รองจากประเทศจีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์
ทางด้านระดับการพัฒนาของธุรกิจ (Business Sophistication) นั้นประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้อยู่ในอันดับที่ 35 โดยเป็นที่หนึ่งของประเทศตลาดใหม่และกำลังพัฒนาในเอเชีย นับว่า เป็นการสะท้อนศักยภาพของประเทศไทยด้านความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจได้เป็นอย่างดี นอกจากนั้นปัจจัยทางด้านคุณลักษณะของความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Nature of Competitive Advantage) ซึ่งได้รับ 4.3 คะแนน ก็อยู่ในอันดับที่ดี นอกจากนั้นปัจจัยทางด้านการตลาด (Extent of Marketing) นั้น ประเทศไทยได้คะแนนถึง 4.9 คะแนน เป็นอันดับที่ 29
นายพสุต เดชะรินทร์ คณบดี คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ยังมีส่วนสำคัญที่จะส่งผลต่อการจัดอันดับของไทย และคาดหวังจะเห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะการประเมินความสามารถทางการแข่งขัน ทาง WEF จะรวบรวมข้อมูล 2 ปีรวมกันไม่ใช่เป็นการประเมินปีต่อปี จึงควรมีมาตรการออกมาอย่างต่อเนื่อง และต้องสื่อสารไปยังผู้บริหารระดับสูงให้เห็นผลงานของรัฐบาลด้วย เพราะการประเมินเกิดจากการสอบถามจากผู้บริหาร ระดับสูงขององค์กรขนาดใหญ่และขนาดย่อม
ทั้งนี้ นอกจากรายงานดัชนีความสามารถทางการแข่งขันระดับโลก (Global Competitiveness Index: GCI) ยังมีการรายงานถึงอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของแต่ละประเทศ ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งในการบั่นทอนขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งปัจจัยลบในปีนี้ของประเทศไทย 3 อันดับต้น ได้แก่ อันดับ 1 เสถียรภาพของรัฐบาล ซึ่งดีขึ้นจากปีที่แล้ว โดยมีคะแนนลดลงจาก 21 เหลือเพียง 18.1 คะแนน อันดับ 2 การคอร์รัปชั่น ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จาก 21.4 เหลือเพียง 12.5 คะแนน และอันดับ 3 ความไม่มีประสิทธิภาพในการบริหารของหน่วยงานรัฐ ลดลงจาก 12.7 เหลือ 12.3 คะแนน ถือเป็นส่วนสำคัญในการดึงดูดนักธุรกิจจากต่างชาติให้เข้ามาร่วมลงทุนในไทย
นายพสุต มองว่า เป็นผลจากความพยายามของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง และให้ภาคเอกชนเข้ามามีร่วมมากขึ้น จึงเห็นผลที่ชัดเจน