การเดินทางในครั้งนี้ นอกจากการขยายความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน เนื่องในโอกาสความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-อิตาลี ครบรอบ 147 ปีแล้ว ยังจะได้หารือกับผู้บริหารระดับสูงของสภาหอการค้ามิลาน ตลอดจนนักธุรกิจและผู้นำเข้าสินค้ารายใหญ่ของอิตาลี โดยจะกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "THAILAND an ASEAN Hub, a World of Opportunity" ในงานเปิดกิจกรรมเจรจาการค้า ณ ห้องประชุมใหญ่ ศูนย์แสดงสินค้า Rho Fiera Milano ในวันที่ 7 ตุลาคม 2558 ให้นักธุรกิจอิตาลีกว่า 80 บริษัท ได้รับทราบนโยบายรัฐบาลไทยและโรดแม็ปความมุ่งมั่นของรัฐบาลที่จะร่วมมือกับนานาชาติในด้านการค้าและการลงทุนทุกมิติ การปรับปรุงโครงสร้างทางเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ เพื่อส่งเสริมการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ในปลายปีนี้ ซึ่งอิตาลีและสมาชิกอียูสามารถใช้ประโยชน์จากไทยในการเป็นประตูหลักที่เชื่อมโยงการค้าการลงทุนสู่อาเซียน +6 และประเด็นนวัตกรรมด้านอาหารของไทยที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับของนานาชาติ อีกทั้งยังมีความหลากหลายสามารถตอบสนองต่อวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ชาวยุโรปได้
นอกจากนี้ จะได้หารือกับนายอัลเบอร์โต บัลดัน (Mr. Alberto Baldan) ซีอีโอของห้างสรรพสินค้าลา รินาเชนเต (La Rinascente) เพื่อผลักดันโครงการความร่วมมือนำสินค้าไทยมาวางจำหน่ายในห้างฯ และกระจายไปยังตลาดอิตาลีให้เพิ่มมากขึ้น ห้างสรรพสินค้าลา รินาเชนเต ปัจจุบันถือหุ้นใหญ่และบริหารโดยเครือเซ็นทรัล เป็นห้างสุดหรูชื่อดังอายุกว่า 150 ปีของอิตาลี ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1865 มีสาขา 11 แห่งทั่วประเทศ ผลประกอบการของห้างฯ มียอดจำหน่ายประมาณ 350 ล้านยูโร (ประมาณ 15,000 ล้านบาท)
ปัจจุบัน กระทรวงพาณิชย์ได้ดำเนินโครงการส่งเสริมร้านอาหารไทยร่วมกับห้างฯ ผลักดันร้านต้นแบบอาหารไทย Thai’n Style โดยร้านแมงโก ทรี(Mango Tree) เข้าร่วมโครงการสาธิตอาหารและจำหน่ายอาหารไทยในร้าน พร้อมกับร้านบลู อีเลเฟ่น(Blue Elephant) จัดมุมจำหน่ายสินค้าอาหารในบริเวณชั้นใต้ดินของห้างฯ
สำหรับการค้าระหว่างไทย-อิตาลี มีมูลค่าการค้ารวมระหว่างกันเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ปีละประมาณ 3,680 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยส่งออกเฉลี่ยมูลค่าปีละ 1,591 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และไทยนำเข้าจากอิตาลีเฉลี่ยมูลค่าปีละ 2,089 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2558(6เดือนแรก) อิตาลีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทยในสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) มูลค่าการค้ารวม 1,934 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยไทยส่งออกสินค้าไปอิตาลี มูลค่า 789 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และไทยนำเข้าจากอิตาลี มูลค่า 1,144 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งนับว่ายังไม่มากนัก คาดว่าน่าจะมีโอกาสขยายความสัมพันธ์ทางการค้ากันได้อีกในเชิงสนับสนุนซึ่งกันและกัน
นางอภิรดี กล่าวว่า อิตาลีเป็นตลาดที่มีกำลังซื้อสูง ที่สำคัญมีประสบการณ์และความชำนาญในสาขาที่ไทยต้องการ โดยเฉพาะการพัฒนา SMEs การพัฒนาเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) แม่แบบแห่งความสำเร็จของธุรกิจ SMEs ซึ่งเป็นกลจักรสำคัญให้อิตาลีก้าวสู่ประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก ได้แก่ แฟชั่น เครื่องหนัง เครื่องประดับ โดยมีความสามารถในการพัฒนา การออกแบบ การผลิต และการค้าเชิงพาณิชย์ ผสมผสานกันอย่างลงตัว
ดังนั้นประเทศไทย จึงควรหาแนวทางความร่วมมือกับอิตาลีในการพัฒนาธุรกิจ SMEs ของไทยในอุตสาหกรรมดังกล่าว การร่วมทุนในอุตสาหกรรมที่อิตาลีมีความเชี่ยวชาญ การฝึกอบรม และศึกษาระบบการจัดการ SMEs ของอิตาลีที่ประสบความสำเร็จ