(เพิ่มเติม2) ธ.โลก คาด GDP ไทยปีนี้โต 2.5% จากใช้จ่ายรัฐ-ท่องเที่ยว,ปี 59 โต 2%-ปี 60 โต 2.4%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 5, 2015 12:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารโลก ประเมินเศรษฐกิจไทย ปี 58 จะขยายตัวได้ราว 2.5% จากการใช้จ่ายภาครัฐ และรายรับจากการท่องเที่ยวที่คาดว่าจะขยายตัวอย่างเข้มแข็ง หากเสถียรภาพทางการเมืองปรับตัวดีขึ้น ขณะที่ในปี 59 คาดการณ์ GDP ไทยขยายตัว 2% และในปี 60 ขยายตัวได้ 2.4% เป็นผลจากเศรษฐกิจจีนยังคงซบเซา และเศรษฐกิจประเทศเกิดใหม่ยังชะลอตัว

ส่วนการดำเนินโครงการของภาครัฐ ในด้านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ทิศทางเศรษฐกิจข้างหน้าสดใสมากขึ้น

ขณะที่ประเมินการส่งออกของไทยปีนี้ ขยายตัวได้ 0.8% จากนั้นในปี 59 จะเติบโตราว 1.8% และ 1.3% ในปี 60 โดยเชื่อว่าการส่งออกจะยังคงอ่อนแอ มูลค่าการส่งออกในรูปสกุลดอลลาร์จะขยายตัวต่ำกว่า 1% เนื่องจากสินค้าส่งออกหลักลดลง และอุปสงค์จากประเทศจีนและอาเซียนที่อ่อนแอลง

นายชาบีห์ อาลี โมฮิบ ผู้นำกลุ่มงานด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง การเงิน และสถาบันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, เอเชียตะวันออก และแปซิฟิก ธนาคารโลก ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะเติบโตช้าสุดในภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากมีความท้าทาย จากการที่ไทยเป็นประเทศเศรษฐกิจเปิดมากและมีการพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก จึงได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวส่งผลโดยตรงต่อความต้องการด้านการค้าขายของตลาดโลก

ประกอบกับ เทคโนโลยีด้านการผลิตยังไมมีการพัฒนาเพิ่มเติม ทำให้สินค้าไทยไม่สอดคล้องกับความต้องการตลาดโลก ดังนั้น มองว่าไทยควรให้ความสำคัญอย่างจริงจังและยั่งยืนกับประเด็นดังกล่าว นอกจากนี้ ยังต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาประสิทธิภาพของบุคลาการ แรงงานให้สูงขึ้น ควบคู่ไปกับการปรับปรุงและลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

"world Bank มองว่า ไทยจะเติบโตได้ในอนาคตขึ้นอยู่ภายใต้ 3 ประเด็นหลัก ซึ่งถือเป็น New Normal ของไทย คือ 1.การบูรณาการเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะเป็นแง่ดีให้กับการค้าและการส่งออกของไทย 2. การให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีและนวัตกรรม มีการพัฒนาระบบการศึกษา เพื่อให้แรงงานมีความรู้เพิ่มขึ้น และ 3.การบูรณาการเศรษฐกิจผ่านการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งจะเป็นการเปิดโอกาสให้เศรษฐกิจไทยในอนาคต ยังเติบโตขึ้นได้

ส่วนที่มองว่า GDP ปีหน้าและปีถัดไปขยายตัวลดลงจากปีนี้ เพราะการดำเนินมาตรการของรัฐในช่วงนี้จะมีผลต่อ GDP ในช่วงสั้นเท่านั้น ดังนั้นถ้าต้องการให้มีการเติบโตในระยะปานกลางขึ้นไป รัฐบาลต้องกลับมาดู 3 ประเด็นดังกล่าว"นาย ชาบีห์ อาลี โมฮิบ ระบุ

สำหรับคาดการณ์เรื่องการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า มองว่าปัจจัยดังกล่าวจะยังมีความเสี่ยงที่ตลาดการเงินตอบสนองอย่างรุนแรงต่อมาตรการนี้ แม้ว่าที่ผ่านมาตลาดจะมีการคาดการณ์และดำเนินการปรับตัวรองรับกับประเด็นดังกล่าวไปแล้วก็ตาม ซึ่งอาจจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง เกิดภาวะเงินทุนไหลเข้าลดลงและสภาพคล่องในตลาดลดลงด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ