ในส่วนของโครงข่ายถนนตะวันออก-ตะวันตก(East-West Corridor) จากมุกดาหาร-พิษณุโลก-ตาก-แม่สอด ซึ่งอยู่แนวด้านบนนั้น ขณะนี้การก่อสร้างแล้วเสร็จกว่า 50% แล้วเหลือบางตอนที่จะเร่งการก่อสร้าง จะเสร็จสมบูรณ์ในปี 2559
สำหรับความร่วมมือไทย-จีนในการพัฒนาเส้นทางรถไฟทางคู่ขนาดรางมาตรฐาน 1.435 เมตร(Standard Gauge) เส้นทางกรุงเทพฯ-แก่งคอย, แก่งคอย-มาบตาพุด, แก่งคอย-โคราช, โคราช-หนองคาย ระยะทาง 873 กม.จะเร่งรัดเช่นกัน เนื่องจากไทยและจีนเห็นตรงกันว่า เป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ซึ่งหลักการนั้นจะต้องเจรจากับทางจีนในเรื่องผลตอบแทนทางการเงินและอัตราดอกเบี้ยที่ดีขึ้น ทั้งนี้เห็นว่าการพิจารณาการลงทุนนั้นจะดูที่ผลตอบแทนทางการเงินอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งโครงการจะสามารถขนส่งได้ทั้งคนและสินค้าซึ่งจะทำให้เกิดความเจริญสองข้างทางและเมืองที่ผ่าน ดังนั้นทางกระทรวงคมนาคมจะต้องทำแผนการพัฒนาจังหวัดตามแนวเส้นทางให้มีความชัดเจนเพื่อให้เห็นความชัดเจนว่าโครงการจะมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอย่างไร
"จะต้องเจรจากับจีน อาจจะต้องมีการปรับเงินลงทุน เพื่อให้โครงการเกิดขึ้นได้ การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ หากพิจารณาผลตอบแทนในระยะสั้นอาจจะไม่คุ้ม ควรมีแผนพัฒนาพื้นที่ตามแนวเส้นทาง ทั้งด้านเศรษฐกิจและท่องเที่ยว เป็นการลงทุนระยะยาว ไทยอยากทำโครงการทั้ง 2 เส้นทาง คือเส้นทางรถไฟร่วมมือกับญี่ปุ่น และที่ร่วมมือกับจีนจะต้องเดินหน้าไปคู่กัน เพื่อให้แนวรถไฟเหนือ-ใต้ และตะวันออก-ตะวันตก ตัดกันที่ไทยและไทยจะกลายเป็นจุดศูนย์กลางของเออีซีทันที ซึ่งจะเกิดประโยชน์กับประเทศอย่างยิ่ง" นายสมคิด กล่าว
นอกจากนี้ยังได้เร่งรัดการเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค ระยะทาง 27 กม. และเตรียมเสนอโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 29.1 กม. วงเงินลงทุน 54,644 ล้านบาท, รถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. วงเงินลงทุน 56,691 ล้านบาท ให้คณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาภายในปลายปีนี้ เพื่อให้โครงการเดินหน้าไปตามเป้าหมาย เพราะช่วงเวลานี้สำคัญมากสำหรับการลงทุน
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม กล่าวว่า ได้เสนอโครงการรถไฟฟ้า 3 สายเข้าที่ประชุม ครม.แล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบถามความเห็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเสนอคณะกรรมการ(บอร์ด) สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ด้วย ส่วนงานเดินรถสีน้ำเงินส่วนต่อขยายนั้นคาดว่า ครม.จะพิจารณาได้เร็วๆนี้ โดยหลังครม.เห็นชอบจะเสนอคณะกรรมการ PPP พิจารณาต่อไป และในต้นปี 2559 จะเสนอ ครม.อีก 2 เส้นทางคือ รถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี ระยะทาง 21 กม. และสายสีม่วงใต้ ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม.
สำหรับเส้นทางรถไฟ จากกาญจนบุรี –กรุงเทพ-แหลมฉบัง-สระแก้ว ทางญี่ปุ่นได้ส่งคณะสำรวจเข้ามาทำงานแล้ว คาดว่าญี่ปุ่นประมาณ พ.ย.นี้จะเห็นภาพชัดเจนขึ้น ซึ่งรูปแบบการลงทุนนั้นจะต้องรอผลการศึกษาและออกแบบเสร็จก่อนเพื่อประเมินค่าก่อสร้างได้ หลักการหากผลตอบแทนไม่ดีเท่าที่ควรรัฐอาจจะต้องลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและร่วมทุนกับญี่ปุ่นในเรื่องการเดินรถ โดยไทยนั้น ต้องการให้เป็นความร่วมมือกันระหว่างไทย-ญี่ปุ่น เพื่อแบ่งเบาภาระของรัฐบาล
นอกจากนี้จะต้องหารือกับทางเมียนมาร์ในการเชื่อมต่อเส้นทางรถไฟจากกาญจนบุรีไปยังพุน้ำร้อนและทวายด้วย ซึ่งนายสมคิดต้องการเร่งรัดเพราะโครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ทาง บมจ.อิตาเลียนไทย ได้เริ่มปรับพื้นที่ และคาดว่าในปี 2559 ลูกค้าจะเข้าไปยังพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทวายประมาณ 60% จำเป็นต้องเร่งรัดเส้นทางรถไฟคู่ขนานไปกับการพัฒนาด่านผ่านแดน พุน้ำร้อน และการก่อสร้างมอเตอร์เวย์ สายกาญจนบุรี-บางใหญ่ ไปคู่กันภายในปี 2559
ส่วนแนวเส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร ระยะทาง 770 กม.ด้านบนนั้น ส่วนของถนนนั้นยังขาด 4 ช่องจราจรบางส่วน ช่วงแม่สอด-ตาก ตอนที่ 3 และ 4 ผ่านภูเขา EIA ผ่านแล้ว ส่วนช่วงพิษณุโลก-หล่มสัก ระยะทาง 104 กม. จะแล้วเสร็จและเปิดใช้ได้ในวันที่ 27 ธ.ค.58 ซึ่งจะมีกิจกรรมทั้งการปั่นจักรยาน 100 กม. การประกวดภาพถ่าย การวิ่งมาราธอน เพื่อโปรโมทเส้นทางท่องเที่ยว โดยจะยังขาด 4 ช่องจราจรช่วงมุกดาหาร-คำชะอี-บ้านนาไคร้-กาฬสินธุ์ ซึ่งอยู่ระหว่างปรับแบบ และของบประมาณปี 2560 ดำเนินการ
ส่วนเส้นทางรถไฟนั้น การศึกษาเบื้องต้นจากแม่สอด-มุกดาหาร ระยะทาง 815 กม. แบ่งเป็นช่วง แม่สอด-พิษณุโลก, พิษณุโลก-ขอนแก่น-มุกดาหาร ซึ่งญี่ปุ่นจะช่วยศึกษาเพิ่มเติม คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี