ศูนย์วิจัยกสิกรฯคาด GDP ปี 59 โต 3% จากปีนี้ 2.8%, Q4/58 ชะลอจาก Q3/58

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 6, 2015 14:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวพิมลวรรณ มหัจฉริยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองกรอบอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย(จีดีพี)ในปี 59 ขยายตัว 2.5-3.5% โดยให้ค่ากลางอยู่ที่ 3% จากปีนี้ที่ประเมินการขยายตัวอยู่ที่ 2.8%

ปัจจัยสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีหน้ามาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลทุกรูปแบบ เช่น มาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ มาตรการสนับสนุนทางภาษีให้กับภาคเอกชน(BOI) และการลงทุนต่างๆของภาครัฐ โดยมาตรการข้างต้นจะต้องรอประกาศออกมาอย่างเป็นรูปธรรมก่อน และจะสามารถเห็นผลอย่างชัดเจนตั้งแต่ไตรมาส 4/58 ถึงปีหน้า และทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยจะมีการประเมินกรอบการขยายตัวของจีดีพีที่แน่นอนอีกครั้ง

สำหรับภาวะเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าไตรมาส 4/58 จะเติบโตได้ราว 2.4% ชะลอลงจากไตรมาส 3/58 ที่ขยายตัวได้ 2.8% เนื่องจากได้ยังได้รับแรงกดดันจากภาคการส่งออกของไทยที่ยังติดลบต่อเนื่อง หลังจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัว โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าหลักของไทย อย่างเช่น จีน ที่ใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเกือบทุกอย่างไปแล้วยังไม่สามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจกลับมาได้ และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่มีแนวโน้มตกต่ำลง อีกทั้งค่าเงินที่แม้ว่าจะอ่อนค่าแต่ประเทศคู่ค้าได้มีการต่อรองเพื่อลดราคาสินค้า ทำให้กดดันการส่งออกเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าการส่งออกไทยในปีนี้จะติดลบเพิ่มเป็น 5% จากเดิมคาดไว้ว่าจะติดลบ 1.7%

"นอกจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ลดลงแล้ว ราคาน้ำมันดิบที่คาดว่าจะยังคงอ่อนตัวต่อเนื่องมายังไตรมาส 4 นี้ ซึ่งมาจากซัพพลายของน้ำมันดิบที่จะเข้ามามากขึ้น หากอิหร่านพ้นจากการถูก Sanction ซึ่งราคาน้ำมันที่ลดลงมันไปกระทบราคายางพารา ปิโตรเลียม และปิโตรเคมี และจีนเองที่เศรษฐกิจไม่ดี แม้ว่าจะใช้มาตรการเกือบทุกรูปแบบแล้วก็ยังไม่ดีขึ้น ทำให้ดีมานด์ของจีนลดลง และมีผลราคาสินค้าที่ลดลงด้วย" นางสาวพิมลวรรณ กล่าว

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนุนในไตรมาส 4/58 จะมาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและการอัดฉีดเม็ดเงินไปสุ่กองทุนหมู่บ้าน สนับสนุนการใช้จ่ายในต่างจังหวัด การช่วยเหลือภาคเอสเอ็มอี และการลงทุนของภาครัฐ นอกจากนี้ภาคการท่องเที่ยวที่ยังเติบโตได้อย่างดีจะเข้ามาหนุน โดยในไตรมาส 4/58 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นกว่า 8 ล้านคน มากกว่า 3 ไตรมาสที่ผ่านมารวมกันอยู่ที่ 7.4 ล้านคน และทั้งปีคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 21.5% จากเดิมที่คาดว่าเพิ่มขึ้นเพียง 16%

"ปัจจัยเสี่ยงในไตรมาสสุดท้ายของปีเราให้น้ำหนักกับปัจจัยภายนอก โดยเฉพาะความผันผวนในตลาดเงิน จากแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดและสถานการณ์เศรษฐกิจจีน ขณะที่ปัญหาภัยแล้งที่ยังกดดันราคาสินค้าเกษตรและความไม่แน่นอนเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญซึ่งอาจจะกลับมาเป็นประเด็นที่จะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจอีกคครั้งในช่วงครึ่งปีแรกของปีหน้า" นางสาวพิมวรรณ กล่าว

ด้านนางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจมหภาค บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า แนวโน้มสินเชื่อรวมทั้งระบบของธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยช่วงไตรมาส 4/58 คาดว่าจะมีการปรับเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 3/58 จากปัจจัยด้านฤดูกาลจับจ่ายใช้สอยของภาคเอกชน และมาตการภาครัฐที่ออกมาตรการ Soft Loan ที่ช่วยลดต้นทุนของลูกค้าผู้ประกอบการที่มีศักยภาพทางธุรกิจ และคาดว่าจะเห็นการเบิกใช้วงเงินบางส่วนภายในสิ้นปี 58

อย่างไรก็ตาม คาดว่าสินเชื่อรวมทั้งระบบจะขยายตัวอยู่ที่ 4% ต่ำกว่าที่ประเมินไว้ที่ 5% เป็นผลมาจากสินเชื่อรายย่อยที่ขยายตัวช้ากว่าที่คาด หลังระดับหนี้ครัวเรือนมีสัญญาณปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งในไตรมาส 4/58 จะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 82-82.5% จากไตรมาส 3/58 ที่ 81.4-81.8% อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของทั้งระบบปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ 2.7% จากไตรมาส 3/58 ที่ 2.6% แต่ทางธนาคารพาณิชย์ก็คงนโยบายการควบคุม NPL เชิงรุกโดยการปรับโครงสร้างหนี้และตัดหนี้สูญ เพื่อคุมระดับ NPL ให้ลดลง

ส่วนสภาพคล่องของระบบในช่วงไตรมาส 4/58 คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากภาครัฐมีความต้องการสภาพคล่องเพื่อไฟแนนซ์การขาดดุลงบประมาณและนำมาใช้เป็นเงินในโครงการลงทุนเพิ่มขึ้น ส่วนสถาบันการเงินแม้ว่าเศรษฐกิจที่ยังไม่ชัดคงทำให้เห็นการออมผลิตภัณฑ์การออมและการลงทึน ที่เน้นเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มและชดเชยผลิตภัณฑ์การออมที่ครบกำหนดไถ่ถอนเป็นหลัก

นายเชาวน์ เก่งชน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด คาดการณ์ค่าเงินบาทในปี 59 อยู่ที่ 38 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ จากสิ้นปีนี้อยู่ที่ 36.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ แต่หากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ยังไม่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ หลังจากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะปรับขึ้นตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา ศูนย์วิจัยกสิกรไทยทบทวนการปรับประมาณการค่าเงินบาทใหม่อีกครั้ง หากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯในอีก 3 เดือนข้างหน้ายังไม่ดีขึ้น และมีผลต่อการตัดสินใจคงดอกเบี้ยของเฟดต่ออีก


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ