โดยกระทรวงการคลังเสนอว่า เนื่องจากพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 39) พ.ศ. 2557 กำหนดให้ยกเลิกมาตรา 42 (14) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งเป็นการยกเลิกการยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินส่วนแบ่งกำไรจากการประกอบกิจการของห้างหุ้นส่วนสามัญ หรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล อันมีผลทำให้ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือบุคคลในคณะบุคคลฯ จะต้องนำเงินได้สำหรับเงินส่วนแบ่งของกำไรมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งมีผลกระทบต่อห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลบางส่วนที่มิได้มีเจตนาเข้ากันเพื่อประกอบกิจการ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์รวมที่ได้มาโดยทางมรดก หรือที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หา ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือบุคคลในคณะบุคคลฯ มิได้มีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมกัน เพื่อประกอบกิจการตั้งแต่แรกเริ่ม
2. การเปิดบัญชีเงินฝากร่วมกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งระหว่างเครือญาติ ส่วนใหญ่เป็นไปเพื่อความสะดวกในการเบิกเงิน ถอนเงิน หรือเพื่อชำระค่าสาธารณูปโภค รวมถึงการเปิดบัญชีร่วมกันในกรณีอื่นๆ ที่มิได้มีความประสงค์ที่จะเข้าร่วมประกอบกิจการ เช่น การเปิดบัญชีเงินสดย่อยของนิสิตมหาวิทยาลัย เป็นต้น
ดังนั้นพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีให้แก่ผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนสามัญหรือบุคคลในคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล จึงสมควรกำหนดให้เงินส่วนแบ่งของกำไรจากเงินได้ดังกล่าว เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้น ไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้
สำหรับสาระสำคัญของร่างกฎกระทรวง
1.กำหนดยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ ดังต่อไปนี้
1.1 เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่งเป็นเงินได้ จากการให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธิ์รวมอันได้มาโดยทางมรดกหรือได้รับมาจากการให้โดยเสน่หา ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้ตามส่วน 2 หมวด 3 ลักษณะ 2 แห่งประมวลรัษฎากร
1.2 เงินส่วนแบ่งของกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลซึ่งเป็นดอกเบี้ยเงินฝาก และถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ดังกล่าวไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืน หรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน
2. กำหนดให้ร่างกฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นไป