ครม.ไฟเขียวงบ 1.1 หมื่นลบ.แก้ปัญหาผลกระทบให้เกษตรกรจากภัยแล้งปี 58/59

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 6, 2015 17:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งปี 2558/59 รวมทั้งเห็นชอบในหลักการโครงการจัดทำแผนชุมชนเพื่อแก้ไขวิกฤตภัยแล้งปี 2558/59 โดยให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการสำรวจความต้องการและจัดทำแผนงาน โครงการ กิจกรรม ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และรวบรวมส่งให้คณะกรรมการอำนวยการบูรณาการแก้ไขปัญหาวิกฤตภัยแล้ง ปี 2558/59 เพื่อพิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาช่วยเหลือต่อไป

สำหรับโครงการบูรณาการมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ปี 2558/59 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการบริหารจัดการพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้งให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำต้นทุนและสถานการณ์ที่เกี่ยวข้อง และช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งให้มีรายได้จากกิจกรรมอื่นทดแทน

เป้าหมายดังนี้ 1.พื้นที่วิกฤตภัยแล้ง (พื้นที่ที่หากมีการใช้น้ำไม่เป็นไปตามแผน จะเกิดผลกระทบต่อการใช้น้ำของภาคส่วนอื่น) คือ พื้นที่การเกษตรในเขตชลประทานลุ่มน้ำเจ้าพระยา 22 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกรุงเทพฯ กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ชัยนาท ตาก นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ นนทบุรี ปทุมธานี พิจิตร พิษณุโลกพระนครศรีอยุธยา ลพบุรี สมุทรปราการ สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี อ่างทอง อุตรดิตถ์ มีเกษตรกรที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบประมาณ 330,000 ครัวเรือน และ 2.พื้นที่ภัยแล้งทั่วไป 55 จังหวัด ระยะเวลาดำเนินโครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2558 – 30 เมษายน 2559 มี 8 มาตรการ รวม 45 โครงการ ดังนี้

1. มาตรการส่งเสริมความรู้และการสนับสนุนปัจจัยการผลิต เพื่อลดรายจ่ายในครัวเรือน วัตถุประสงค์เพื่อการยังชีพและลดรายจ่ายในคัรวเรือน หากมีเหลือจึงจำหน่ายเป็นรายได้ เป้าหมายเป็นเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 525,261 ราย

2. มาตรการชะลอหรือขยายระยะเวลาชำระหนี้ที่เกษตรกรมีภาระหนี้กับสถาบันการเงิน วัตถุประสงค์เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสินเชื่อ เป้าหมายเป็นเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา751,240 ราย

3. มาตรการจ้างงานเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกร วัตถุประสงค์เพื่อสร้างรายได้ในขณะที่ไม่สามารถทำการเกษตรได้ เป้าหมายเป็นเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 28,195 ราย และเกษตรกรในพื้นที่ภัยแล้งทั่วไป 98,888 ราย

4. มาตรการเสนอโครงการตามความต้องการของชุมชนเพื่อบรรเทาผลกระทบภัยแล้ง วัตถุประสงค์เพื่อให้ชุมชนมีแผนการพัฒนาตามความต้องการและเหมาะสมกับชุมชน เป้าหมายเป็นเกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 1,719 แห่ง และในพื้นที่ภัยแล้งทั่วไป 5,391 แห่ง

5. มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและรณรงค์ให้เกษตรกรและประชาชนรู้จักวิธีการประหยัดน้ำเพิ่มขึ้น เป้าหมายเป็นเกษตรกรในพื้นที่ภัยแล้งทั่วไป 4,000 ราย

6. มาตรการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน วัตถุประสงค์เพื่อขยายโอกาสในการใช้ประโยชน์จากต้นทุนน้ำที่เพิ่มขึ้น เป้าหมายในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา 6,598 แห่ง และพื้นที่ภัยแล้งทั่วไป 4,886 แห่ง

7. มาตรการเสริมสร้างสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน วัตถุประสงค์เพื่อสุขภาวะที่ดีจากโรคภัยและลดการสูญเสียทรัพย์สินทางการเกษตร

8. มาตรการสนับสนุนอื่นๆ เช่น การชวยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลัง, สินเชื่อ, บริการข้อมูล, ส่งเสริมการท่องเที่ยว เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาผลกระทบจากปัญหา เป้าหมายในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา 3,000 แห่ง/12 เมือง

พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่จะนำมาใช้ในการบรรเทาผลกระทบให้แก่เกษตรกรจากปัญหาภัยแล้งในปี 2558/2559 ตามมาตรการและโครงการต่างๆ นั้น คิดเป็นงบประมาณรวมทั้งสิ้น 11,151 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นงบปกติที่จะนำมาใช้อยู่แล้ว 6,752 ล้านบาท มาจากงบกลางที่มีอยู่เดิม 327 ล้านบาท และเป็นการขอเพิ่มเติมอีก 4,071 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ