ขณะที่รายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้ 295,542 ล้านบาท คิดเป็น 65.8% ของวงเงินงบประมาณ 449,476 ล้านบาท สูงกว่าผลการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ พ.ศ. 2557 ที่เบิกจ่ายได้เพียง 58.4% ซึ่งสาเหตุที่ผลการเบิกจ่ายรายจ่ายลงทุนไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เนื่องจากโครงการลงทุนของภาครัฐในบางโครงการมีงบลงทุนสูง จึงจำเป็นต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ ส่วนบางรายการอยู่ระหว่างกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการทบทวนราคาค่าก่อสร้างใหม่ เพราะต้นทุนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงดีเซลลดลง ทำให้ส่วนราชการต้องจัดทำราคากลางใหม่ ส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายลงทุนไม่เป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ สำหรับการก่อหนี้รายจ่ายลงทุน ก่อหนี้ได้ 349,996 ล้านบาท คิดเป็น 77.9% ของวงเงินงบประมาณฯ
ส่วนการเบิกจ่ายเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี ปีงบประมาณ 2548-2557 วงเงิน 351,819 ล้านบาท เบิกจ่ายได้แล้ว 223,307 ล้านบาท คิดเป็น 63.5% มียอดคงเหลือ 128,513 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกันฯ กรณีมีหนี้ผูกพัน 58,496 ล้านบาท และเงินกันฯ กรณีไม่มีหนี้ผูกพัน 70,016 ล้านบาท ส่วนเงินลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ที่ไม่ได้เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณ วงเงิน 227,876 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 154,973 ล้านบาท หรือคิดเป็น 68%, เงินทุนหมุนเวียน ที่ไม่ได้เบิกจ่ายจากเงินงบประมาณ วงเงิน 469,452 ล้านบาท เบิกจ่ายแล้ว 233,106 ล้านบาท หรือคิดเป็น 49.7% และเงินอื่นๆ วงเงิน 5,896 ล้านบาท
การดำเนินงานตามโครงการรัฐบาลที่สำคัญ ได้แก่ เงินกู้ไทยเข้มแข็ง (งบกระตุ้น) วงเงิน 15,200 ล้านบาท เบิกจ่ายได้ 12,284 ล้านบาท หรือคิดเป็น 81.9% มาตรการเพิ่มรายได้ฯ ชาวนา เบิกจ่ายได้ 39,480 ล้านบาท หรือคิดเป็น 98.7% ชดเชยรายได้สวนยาง เบิกจ่ายแล้ว 8,077 ล้านบาท หรือคิดเป็น 98.5% โครงการสร้างมูลภัณฑ์กันชนเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง เบิกจ่ายแล้ว 9,027 ล้านบาท หรือคิดเป็น 75.2% และโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เบิกจ่ายได้ 13,296 ล้านบาท หรือคิดเป็น 17%
นายมนัส กล่าวว่า การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลประจำปีงบประมาณ 2558 ณ วันที่ 30 ก.ย.58 มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 66,476 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,106 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2557 ที่เบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 62,369 ล้านบาท เนื่องจากกรมบัญชีกลางได้ปรับเพิ่มสิทธิประโยชน์หลายประการ ได้แก่ 1.ปรับค่าห้อง ค่าอาหาร จากเดิม 600 บาทต่อวัน เป็น 1,000 บาทต่อวัน ค่าเตียงสามัญ จากเดิม 300 บาทต่อวัน เป็น 400 บาทต่อวัน 2.ปรับเพิ่มรายการและอัตราค่าอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรคและอวัยวะเทียม ที่มีการทยอยปรับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็น 120 รายการ และ 3.ปรับเพิ่มการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) หรือเป็นกรณีที่ไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือฉุกเฉินเร่งด่วน กรมบัญชีกลางกำหนดให้นำมาเบิกจากต้นสังกัด คือ เบิกได้ครึ่งหนึ่งของจำนวนเงินที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 8,000 บาท จากเดิมที่ไม่เกิน 4,000 บาท
นอกจากนี้ กรมยังได้ขยายสิทธิประโยชน์ในโครงการเบิกจ่ายตรงประเภทผู้ป่วยใน สถานพยาบาลของเอกชน กรณีนัดผ่าตัดล่วงหน้า จากเดิมมีโรงพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการฯ เพียง 30 แห่ง เป็น 96 แห่ง ครอบคลุมทั่วประเทศ และยังได้เพิ่มจำนวนโรคที่กำหนดไว้เดิม 78 โรค เป็น 86 โรค
นายมนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ พ.ศ.2559 กรมบัญชีกลางได้เตรียมการเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ และการจัดซื้อจัดจ้างไว้แล้ว ซึ่งที่ผ่านมากรมได้มีหนังสือเวียน ด่วนที่สุด ที่ กค (กวพ) 0421.3/ ว 299 ลงวันที่ 28 สิงหาคม 2558 ขยายวงเงินการจัดซื้อจัดจ้าง ตั้งแต่ราคา 1 - 500,000 บาท ใช้วิธีตกลงราคา และตั้งแต่ราคา 500,000 - 2,000,000 บาท ใช้วิธีสอบราคา เพื่อให้ส่วนราชการสามารถจัดซื้อจัดจ้างเป็นไปด้วยความรวดเร็ว คล่องตัว และสอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น แต่ขณะเดียวกันก็ยังคงต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีธรรมาภิบาลอีกด้วย โดยในปีงบประมาณ 2559 มีโครงการที่มีวงเงินต่ำกว่า 2,000,000 บาท ทั้งสิ้น 70,000 กว่าโครงการ คิดเป็นเม็ดเงินกว่า 32,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ได้กำหนดแนวทางเพื่อสนับสนุนการเบิกจ่ายเงินของมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล (ตำบลละ 5 ล้านบาท) ปี 2556-2558 วงเงินรวม 37,913 ล้านบาท และโครงการลงทุนขนาดเล็กไม่เกิน 1 ล้านบาท วงเงินรวม 40,000 ล้านบาท โดยกรมบัญชีกลางได้เร่งรัดการจัดซื้อจัดจ้างและการเบิกจ่าย รวมทั้งผ่อนคลายวิธีการจัดซื้อจัดจ้าง ตามหนังสือเวียน ว 299 ข้างต้น พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักมาตรฐานการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และสำนักงานเขตและสำนักงานคลังจังหวัด จัดประชุมชี้แจงแนวทางปฏิบัติในการจัดซื้อจัดจ้างด้วยวิธีตกลงราคา และสอบราคาให้แก่ส่วนราชการ จังหวัด และนายอำเภอ รวมถึงจัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางให้จังหวัด และอำเภอ ดำเนินการได้รวดเร็วและถูกต้อง
"กรมบัญชีกลางพร้อมจะดำเนินการพัฒนางาน ผ่อนคลายกฎระเบียบ และเพิ่มสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในปีงบประมาณ 2559 อย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับเป็นหลัก และจะเร่งดำเนินการในการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้วงเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็ว" นายมนัส กล่าว