พาณิชย์ จับมือเอกชนผลักดันไม้ยางพาราและชีวมวลอัดแท่งสู่ตลาดตปท.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 8, 2015 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางมาลี โชคล้ำเลิศ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า เตรียมหารือกับการยางแห่งประเทศไทย(กยท.), กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อร่วมกันขจัดปัญหาด้านการรับรองแหล่งที่มาของไม้ที่นำมาใช้ผลิตว่าเป็นไม้ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศในปัจจุบัน หากประเทศไทยสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ก็จะช่วยให้สินค้าอื่นๆ ที่ผลิตจากไม้ยางพารา อาทิ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ได้รับอานิสงส์ให้สามารถส่งเข้าตลาดที่มีความเข้มงวดในประเด็นดังกล่าว เช่น ตลาดสหภาพยุโรป ได้ด้วย

อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า การส่งเสริมการส่งออกไม้ยางพาราและชีวมวลอัดแท่งจะเป็นช่องทางที่ดีในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราไทย ซึ่งจะช่วยสร้างมูลค่าการส่งออกและช่วยทำให้ราคายางพาราในประเทศดีขึ้นได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งกรมฯ มีแผนทำการตลาดต่างประเทศร่วมกับสมาคมธุรกิจไม้ยางพาราไทย โดยจะเน้นบุกเจาะประเทศที่มีนโยบายใช้การผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานชีวมวล อาทิ ญี่ปุ่นและเกาหลี และประเทศอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบทางด้านแรงงาน (Labour intensive) ซึ่งมีความพร้อมนำการนำเข้าไม้ยางพาราไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป อาทิ อินเดียและจีน เป็นต้น

ทั้งนี้ เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบ รวมไปถึงการควบคุมปริมาณการผลิต โดยกำหนดให้มีการโค่นต้นยางปีละ 400,000 ไร่ ระยะเวลา 7 ปี เริ่มดำเนินงานปี 2558/2559 โดยต้นยางจำนวนดังกล่าวสามารถนำมาแปรรูปเป็นไม้ยางพาราแปรรูปอบแห้งได้ประมาณ 3.4 ล้านลูกบาศก์เมตร(ลบ.ม.)/ปี และจะมีของเสียจากกระบวนการแปรรูปปีละประมาณ 11.6 ล้านตัน ซึ่งสามารถนำไปใช้ผลิตชีวมวลอัดแท่ง(Wood Pellet) ได้ถึงปีละ 3 ล้านตัน

โดยในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558(ม.ค.-ส.ค.) ไทยส่งออกไม้ยางพาราคิดเป็นมูลค่า 551.44 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีตลาดหลักคือ ประเทศจีน ในขณะที่มูลค่าการส่งออกชีวมวลอัดแท่งในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 คิดเป็น 1.11 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ตลาดที่ใหญ่ที่สุดของชีวมวลอัดแท่งคือ เกาหลีใต้ และรองลงมาคือ ญี่ปุ่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ