ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 และต่ำสุดในรอบ 16 เดือน
สำหรับปัจจัยลบ มาจากการที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(GDP)ไทยในปี 58 เหลือโต 2.7% จากเดิมคาดโต 3% หลังจากมองว่ามีความเสี่ยงทางเสรษฐกิจสูงขึ้นจากการส่งออกชะลอตัว รวมทั้งปรับลดคาดการณ์ GDP ปี 59 เหลือโต 3.7% จากเดิมที่คาดโต 4.1% เป็นผลจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก อีกทั้งยังมีความกังวลเกี่ยวกับความไไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจจีน, การส่งออกของไทยในเดือนส.ค.ลดลง 6.69%, ราคาสินค้าสินค้าเกษตรยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ, ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าลงจากระดับ 35.42 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนส.ค. มาเป็น 36.02 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนก.ย.
ขณะที่ปัจจัยบวกมีเพียงการที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น 3 มาตรการ วงเงิน 1.36 แสนล้านบาท และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.50%
นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การบริโภคของประชาชนยังฟื้นตัวขึ้นไม่มากนักในช่วงนี้ เนื่องจากประชาชนยังมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ความไม่แน่นอนในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก โดยมองว่าการบริโภคจะค่อยเริ่มปรับตัวดีขึ้นหลังจากเม็ดเงินในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลเข้าไปหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 นี้ ซึ่งจะส่งผลให้การบริโภคของประชาชนน่าจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้นตั้งแต่กลางไตรมาส 4 ปีนี้เป็นต้นไป
นายธนวรรธน์ มองว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังซึมตัวต่อเนื่อง จึงทำให้ผู้บริโภคยังคงระมัดระวังในเรื่องการจับจ่ายใช้สอย แต่ถือว่าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญของการเริ่มต้นเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของผู้บริโภคที่เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวขึ้นเล็กน้อย ในรอบ 9 เดือน เพียงแต่สัญญาณดังกล่าวอาจยังมีความเปราะบาง เนื่องจากยังต้องรอความหวังในอนาคตจากโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งในเดือนก.ย.นี้เม็ดเงินคงยังลงสู่ระบบได้ไม่มากนัก แต่ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อสถานการณ์ในอนาคตว่าจะเริ่มสดใสขึ้น จึงทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในช่วง 9 เดือนนับตั้งแต่เดือนธ.ค.57
“ภาคเศรษฐกิจในตอนนี้ยังไม่ออกอาการฟื้นตัว แต่เราเริ่มเห็นสัญญาณเล็กๆ จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตพบว่ามีการฟื้นขึ้นเล็กๆ แต่สัญญาณนี้ยังเปราะบางเพราะมันมาจากความคาดหวังในอนาคต เพราะรัฐบาลกำลังเร่งผลักดันโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ซึ่งข่าวนี้ทำให้คนมีความเชื่อมั่นว่าในอนาคตเศรษฐกิจจะสดใสขึ้น จึงทำให้ความเชื่อมั่นในอนาคตทุกรายการกลับมาเป็นบวก" นายธนวรรธน์ กล่าว
พร้อมมองว่า หากรัฐบาลสามารถขับเคลื่อนเม็ดเงินลงสู่ระบบได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในเดือนต.ค.นี้เป็นเดือนที่รัฐบาลคาดหวังว่าเม็ดเงินจะเริ่มลงสู่ระบบได้ และจะเพิ่มมากขึ้นในเดือนพ.ย.เป็นลำดับ ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของความเชื่อมั่นผู้บริโภคในช่วงเดือน 2-3 เดือนนี้อย่างมีนัยสำคัญ และหากความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคตยังปรับตัวดีขึ้นเรื่อยๆ ก็จะช่วยทำให้เศรษฐกิจโดยรวมฟื้นกลับมาได้เร็วขึ้น โดยคาดว่าช่วงไตรมาส 4 นี้ จะสามารถเห็นการฟื้นตัวของดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคทั้งในปัจจุบันและอนาคตไปได้พร้อมๆ กัน
นายธนวรรธน์ กล่าวว่า จากการที่ธนาคารโลก (World Bank) และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะเติบโตได้เพียง 2.5% ซึ่งเป็นการเติบโตที่ยังไม่เด่นชัดนัก ดังนั้นจึงเป็นภาระสำคัญของรัฐบาลที่จะต้องเร่งขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ผ่านมาตรการต่างๆ ซึ่งจะทำให้มีแรงเหวี่ยงทางเศรษฐกิจ และทำให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 โตใกล้เคียงที่ 3% ได้และเป็นโมเมนตัมให้เศรษฐกิจไทยปีหน้าโตเกินกว่า 3.5%
อย่างไรก็ดี ในปีนี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย คาดว่า GDP ในปีนี้จะเติบโตได้ 2.7-3.0% ซึ่งคงไม่น่าจะต่ำไปกว่านี้ ขณะที่ปี 59 คาดว่า GDP จะโตได้ 3.5%
“โครงการที่ทำให้เกิดการจ้างงานในท้องถิ่น สามารถทำได้เร็ว ทำให้ไตรมาส 4 มีแรงเหวี่ยงทางเศรษฐกิจและทำให้ GDP ไตรมาส 4 โตใกล้เคียง 3% ได้ โดยผ่านการลงทุนที่เป็นเม็ดเงินของภาครัฐ รวมทั้งการจัดซื้อจัดจ้างโครงการขนาดเล็กๆ ในชุมชน การปล่อยสินเชื่อให้ SME และมีเงินสะพัดเร็ว ก็จะเป็นโมเมนตัมสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจปีหน้าโตเกิน 3.5%" นายธนวรรธน์ กล่าว