ที่ประชุมกนพ.เห็นชอบเพิ่มประเภทกิจการเป้าหมายในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 8, 2015 14:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายปรเมธี วิมลศิริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษครั้งที่ 4/ 2558 วันนี้มีมติเห็นชอบการเพิ่มเติมประเภทกิจการเป้าหมายที่จะได้รับสิทธิประโยชน์สูงสุดในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ โดยให้สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) นำเสนอคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (กกท.) พิจารณาและออกเป็นประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนต่อไป และให้จังหวัดที่มีเขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 10 จังหวัดให้ข้อมูลกับภาคส่วนในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อสนับสนุนการลงทุน โดยประเภทกิจการเป้าหมายเพิ่มเติม ได้แก่

กลุ่มที่ สกท. ให้การส่งเสริมอยู่ในปัจจุบัน 4 ประเภทกิจการ ได้แก่ (1) กิจการอบพืชและไซโล (2) กิจการผลิตผลิตภัณฑ์จากผลพลอยได้หรือเศษวัสดุทางการเกษตร (3) กิจการผลิตโครงสร้างโลหะสำหรับงานก่อสร้างหรืองานอุตสาหกรรม (4) กิจการผลิตสิ่งพิมพ์ทั่วไป ทั้งนี้ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี และได้ลดหย่อนภาษีร้อยละ 50 ในปีที่ 9-13

กลุ่มที่ สกท. ยกเลิกการส่งเสริมไปแล้ว แต่นำกลับมาให้สิทธิประโยชน์ 6 ประเภทกิจการ เฉพาะเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ 10 พื้นที่ โดยมีเงื่อนไขให้ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนภายในเดือนมิถุนายน 2559 ได้แก่ (1) กิจการผลิตอาหารสัตว์หรือส่วนผสมอาหารสัตว์ (2) กิจการผลิตวัสดุก่อสร้าง และกิจการผลิตผลิตภัณฑ์คอนกรีตอัดแรงสำหรับงานสาธารณูปโภค (ยกเว้นการผลิตกระเบื้องมุงหลังคา และกระเบื้องปูพื้นหรือผนัง) (3) กิจการผลิตสิ่งปรุงแต่งสำหรับประทินร่างกาย เช่น สบู่ ยาสระผม ยาสีฟัน (4) กิจการผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกสำหรับสินค้าอุปโภค (5) กิจการผลิตสิ่งของจากเยื่อหรือกระดาษ (6) กิจการพัฒนาอาคารสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมและ/หรือคลังสินค้า ทั้งนี้ จะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี

นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เห็นชอบในหลักการการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ชายแดน จ. สระแก้ว จ. สงขลา และ จ.กาญจนบุรี และมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการและประสาน กับสำนักงบประมาณต่อไป ดังนี้ โครงการพัฒนาพื้นที่ชายแดน อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว และมอบหมาย (1) กระทรวงการต่างประเทศ เป็นเจ้าภาพหารือกับฝ่ายกัมพูชา เพื่อหาข้อสรุปรูปแบบสัดส่วนการลงทุนก่อสร้างสะพานข้ามคลองพรมโหด บ.หนองเอี่ยน ก่อนกรมทางหลวงดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง (2) กรมทางหลวงชนบท ขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2559 (งบกลางฯ) จำนวน 32 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างถนนสาย ทล.348-บ้านป่าไร่ ระยะ 12.5 กม. พร้อมสำรวจอสังหาริมทรัพย์ (3) กรมศุลกากร ขอรับจัดสรรงบประมาณปี 2559 (งบกลางฯ) เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณด่านบ้านคลองลึก โดยสร้างลานตรวจสินค้าด้วยระบบ X-ray วงเงิน 115 ล้านบาท และโครงการปรับปรุงอาคารที่ทำการ วงเงิน 50 ล้านบาท

อีกทั้ง เห็นชอบในหลักการโครงการปรับปรุงด่านศุลกากรสะเดา และมอบหมายกรมศุลกากรขอรับจัดสรรงบประมาณสำหรับปรับปรุงด่านศุลกากรสะเดาเพิ่มเติม วงเงิน 40 ล้านบาท และค่าครุภัณฑ์และค่าวางสาย Fiber Optic วงเงิน 10 ล้านบาท 2.3 การพัฒนาพื้นที่ชายแดนกาญจนบุรี มอบหมายกระทรวงคมนาคม ร่วมกับ กระทรวงการคลัง และ สศช. เจรจากับเมียนมาในการเตรียมพัฒนาด่านพรมแดนบ้านพุน้ำร้อน จ.กาญจนบุรี

ที่ประชุมฯ มอบหมายกระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย การนิคมอุตสาหกรรมและภาคเอกชน หารือร่วมกันเพื่อปรับปรุงข้อเสนออัตราค่าเช่าที่ดินราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษให้เหมาะสม รวมทั้งพิจารณาแนวทางการให้เช่าที่ดินในระยะหลังจาก 50 ปีแรก

นอกจากนี้ เห็นชอบให้กรมทางหลวงใช้ประโยชน์ที่ราชพัสดุในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตากบางส่วน ประมาณ 225 ไร่ ในการก่อสร้างถนน 4 ช่องจราจร และการก่อสร้าง CIQ โดยให้กรมธนารักษ์ ดำเนินการตามระเบียบของกรมธนารักษ์ในเรื่องการให้หน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุ

และเห็นชอบในหลักการการจัดหาพื้นที่ของรัฐเพื่อใช้ประโยชน์ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ นราธิวาส นครพนม เชียงราย และกาญจนบุรี โดยให้จัดลำดับความสำคัญและพิจารณาดำเนินการในส่วนที่ไม่มีผลกระทบเชิงลบต่อประชาชนและพื้นที่

เห็นชอบในหลักการของร่างแผนบริหารจัดการชายแดนด้านความมั่นคง (ปี 2558-2564) ในพื้นที่ 31 จังหวัดทางบก และ 23 จังหวัดทางทะเล โดยกำหนดให้พื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษตาก สระแก้ว ตราด มุกดาหาร สงขลา และหนองคาย เป็นพื้นที่เป้าหมายระยะที่ 1 โดยให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีในการบริหารจัดการ ให้เพิ่มเรื่องโรคระบาดทั้งคนและสัตว์ การจัดระบบแรงงานไป-กลับตามฤดูกาลและรายปี การพัฒนาฝีมือแรงงานไทยและต่างด้าวบริเวณชายแดน โดยให้มีการประชุมหารือ ปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้มีการบูรณาการ

เห็นชอบให้มีการยกระดับศักยภาพสหกรณ์การเกษตรให้เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นโดยเชื่อมโยงกับวิสาหกิจชุมชน และพิจารณาส่งเสริมการอำนวยความสะดวกการนำเข้าผลผลิตสินค้าเกษตรจากประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะจากเกษตรกรรายย่อยเพื่อลดปัญหาการลักลอบนำเข้า

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) ระบุว่าการประชุมกนพ. วันนี้เป็นการติดตามงานที่ได้สั่งการไปก่อนหน้านี้ ทั้งการขับเคลื่อนในระยะที่ 1 และที่ 2 คือเรื่องของการจัดหาพื้นที่ การกำหนดสิทธิประโยชน์ และมาตรการส่งเสริมของบีโอไอ ซึ่งในภาพรวมมีความก้าวหน้าตามลำดับ ตามวัตถุประสงค์สำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจในระดับท้องถิ่นดีขึ้น โดยต้องอาศัยทั้งภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม ที่ตรงกับความต้องการของประเทศและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยต้องพิจารณาให้สิทธิพิเศษกับอุตสาหกรรมที่อยู่นอกพื้นที่และในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษที่กำหนดไว้แต่ละกลุ่ม ที่สำคัญคือต้องสร้างความเชื่อมโยงกับการปรับโครงสร้างภาคการเกษตรและภาคเศรษฐกิจในระดับชาติ และต้องให้พื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษสร้างรายได้เสริมให้กับประชาชน ทั้งนี้ทุกอุตสาหกรรมสามารถรับความช่วยเหลือจากบีโอไอ เพื่อเข้าไปลงทุนได้ทุกจังหวัด โดยเป้าหมายสำคัญขณะนี้ต้องให้เขตเศรษฐกิจพิเศษเกิดขึ้นโดยเร็วจากความเห็นชอบของทุกภาคส่วน

ขณะที่ปัญหาในขณะนี้คือการจัดหาที่ดิน ซึ่งภาครัฐจะพยายามขับเคลื่อนแก้ปัญหาให้ได้ โดยเฉพาะกรณีที่ประชาชนเข้าบุกรุกพื้นที่ ก็จะต้องหาทางออกในการดูแล โดยให้เป็นไปตามกฎหมายและไม่สนับสนุนให้ประชาชนกระทำผิด ทั้งนี้ต้องสร้างการบูรณาการทำงานของทุกหน่วยงานให้เดินหน้าไปพร้อมกัน และยังต้องกำหนดอุปสงค์และอุปทานรวมของประเทศให้ชัดเจน และต้องขอความร่วมมือประชาชนทุกพื้นที่และสร้างความเข้าใจว่ารัฐบาลทำเพื่อวางแนวทางสำหรับความยั่งยืนในอนาคต อย่าให้ใครมาปลุกปั่น และให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ปัญหาของประเทศในอนาคตคือการบริหารจัดการน้ำ ที่วันนี้ส่งผลกับน้ำเพื่อการเกษตรแล้ว อนาคตอาจส่งผลต่อน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค ดังนั้นรัฐบาลต้องพิจารณาทุกแนวทาง เช่น เหมืองน้ำ โครงการเจาะน้ำใต้ดินเพื่อเก็บเป็นคลังน้ำ หรือการนำน้ำทะเลมาเก็บไว้เพื่อผลิตเป็นน้ำจืด ซึ่งเป็นสิ่งที่คณะกรรมการน้ำต้องพิจารณา โดยเฉพาะกรณีที่ฝนไม่ตกตามฤดูกาล เพื่อการสร้างความยั่งยืนของการบริหารจัดการน้ำ

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยเฉพาะในโครงการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง กองทุนละ 1 ล้านบาท มีความคุ้มค่าเพราะมีวัตถุประสงค์เพื่อการจ้างงานในพื้นที่ ขณะที่โครงการขนาดใหญ่ก็จะใช้งบประมาณปกติและงบประมาณกลางเพื่อดำเนินการอยู่แล้ว ซึ่งตั้งแต่ช่วงตุลาคม 2558 ถึงเมษายน 2559 จะเป็นการช่วยหน้าแล้ง จึงต้องผลักดันโครงการดังกล่าว เพื่อสร้างรายได้ให้ประชาชน และยืนยันไม่ใช่เป็นการจ่ายเงินให้เปล่า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ