รมช.คมนาคม มอบนโยบายบขส.เร่งแก้ระเบียบค่าโดยสารใหม่ แข่งโลว์คอสต์

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 8, 2015 17:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมช.คมนาคมเปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมและให้นโยบายการดำเนินงาน บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) ว่า ในด้านการดำเนินธุรกิจนั้น บขส.จะต้องเร่งปรับตัว เนื่องจากขณะนี้ประสบปัญหาจำนวนผู้โดยสารลดลง เพราะถูกสายการบินต้นทุนต่ำ ลดค่าโดยสารลงมาใกล้เคียงและแย่งผู้โดยสาร ซึ่งบขส.จะเสนอคณะกรรมการขนส่งทางบกกลาง เพื่อขออนุมัติกรอบอัตราค่าโดยสารใหม่ จากการกำหนดแบบอัตรา สต./กม. เป็นการกำหนดเพดานขั้นสูง เพื่อให้มีความคล่องตัวในจัดทำราคาให้สามารถแข่งขันได้ตามกลไกลตลาด ซึ่งสามารถกำหนดค่าโดยสารให้เหมาะสมกับลูกค้าในแต่ละกลุ่มได้ พร้อมกันนี้ จะต้องนำพื้นที่สถานีเอกมัย สายใต้เก่ามาพัฒนาหารายได้เพิ่มด้วย

ในขณะเดียวกันจะต้องเร่งลดค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าน้ำมัน ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับบมจ. ปตท. (PTT) เพื่อขอลดราคาลง หากทางปตท.ไม่ยอมลดราคา บขส.อาจจะต้องเปิดเสรีในการจัดซื้อน้ำมัน โดยเปิดประมูลเพื่อซื้อน้ำมันจากที่อื่นที่ราคาต่ำกว่าของปตท. โดยผลประกอบการปี 2558 มีกำไรสุทธิ 217 ล้านบาท ลดลงจากปี 2557 ที่มีกำไรสุทธิ 342 ล้านบาท

ส่วนการย้ายสถานีขนส่งกรุงเทพ (จตุจักร) ไปยังที่แห่งใหม่นั้น บขส.ยังไม่ได้ข้อสรุป โดยอยู่ระหว่างพิจารณาที่ตั้งแห่งใหม่ ซึ่งตามแผนคาดว่าการย้าย บขส.ไปยังที่ใหม่จะแล้วเสร็จในปี 2565 ดังนั้น ในระหว่างนี้จะต้องเจรจากับทางการรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่อพิจารณาเพื่อไม่ให้กระทบต่อการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อของรถไฟสายสีแดง

ด้านนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล ประธานกรรมการ บขส. กล่าวว่า ปัจจุบันที่ปตท.ขายน้ำมันให้บขส.ในราคาต่ำกว่าหน้าปั๊ม 1 บาทต่อลิตรเท่านั้น ซึ่งบขส.เสนอขอให้ปตท.ลดลงจากราคาหน้าปั๊ม 1.50-2 บาทต่อลิตร แต่ปตท.ยังไม่ยอม ซึ่งในขณะนี้น้ำมันดีเซลในประเทศมีจำนวนมาก โรงกลั่นต้องส่งออกในราคาต่ำกว่าหน้าปั๊ม 2.50-3 บาทต่อลิตร จึงมองว่า หากบขส.ซื้อจากรายอื่นจะได้ต่ำกว่าที่ปตท.ขาย โดยปัจจุบัน บขส.ใช้น้ำมันปีละประมาณ 40 ล้านลิตร คิดเป็นเงินเกือบ 1,000 ล้านบาท ซึ่งมีสัดส่วนถึง 25 % ของค่าใช้จ่ายทั้งหมดหากประหยัดลง1 บาทต่อลิตรเท่ากับลดรายจ่ายได้ถึงปีละ 40 ล้านบาท

“ตามหลักระเบียบรัฐวิสาหกิจกรณีซื้อน้ำมันเกิน 10,000 ลิตรจะต้องซื้อจากปตท.ซึ่งล่าสุด มติคณะกรรมการพลังงานแห่งชาติ ให้กระทรวงพลังงานหารือกระทรวงการคลังเพื่อแก้ไขระเบียบดังกล่าว ซึ่งได้เริ่มที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) แล้วที่อนุมัติให้ซื้อน้ำมันจากบริษัทใดก็ได้ ส่วนรัฐวิสาหกิจอื่นๆ คลังอยู่ระหว่างการพิจารณา “

ส่วนการย้าย สถานี บขส.นั้น อยู่ระหว่างการพิจารณาพื้นที่ 5 จุด คาดว่าจะเสนอคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติโครงการได้ภายในปลายปี 2558 นี้ ใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 2 ปี จะเร่งแผนงานเพื่อให้แล้วเสร็จและย้ายออกจากที่เดิมในปี 2563 คาดว่าจะใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะใช้เงินสดหมุนเวียนที่มีประมาณ 3,000 ล้านบาทมาลงทุน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ