บอร์ดนวัตกรรม หนุนพัฒนารถเมล์ไฟฟ้า,ใช้เทคโนโลยีนำร่องช่วยเกษตรกร 200 ชุมชน

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 9, 2015 18:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพิเชษฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมนายทวีศักดิ์ ก่ออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และนายสุพันธ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ร่วมกันแถลงผลการประชุม คณะกรรมการพัฒนาระบบนวัตกรรมของประเทศ ครั้งที่ 4/2558 ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นชอบ ในหลักการต่อมาตรการเร่งด่วนการพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางรางเพื่อสนับสนุนโครงการลงทุนระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพและปริมณฑล ที่เสนอปรับเปลี่ยนวิธีการจัดซื้อจัดจ้างจากที่ประมูลทีละสายมาเป็น big lot และให้รัฐเป็นผู้กำหนดรายละเอียดด้านเทคนิคแทนผู้ได้สัญญาเดินรถ

รวมทั้งบรรจุเงื่อนไขในสัญญากับผู้ประกอบการเดินรถเกี่ยวกับการถ่ายทอดเทคโนโลยี การร่วมวิจัยและพัฒนากับสถาบัน วิจัย หรือหน่วยงานของภาครัฐ ทั้งนี้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการประสานงานกับกระทรวงคมนาคม เพื่อดำเนินรายละเอียดต่อไป มีการแบ่งขั้นตอน จากนั้นขยายไปสู่การผลิต ซึ่งอาจเริมจากการนำของที่มีอยู่มาดัดแปลง เป็นต้น

ขณะที่การสนับสนุนนโยบาย ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในอาเซียนนั้น คณะกรรมการฯเร่งรัดให้ ขสมก.ดำเนนการขอแก้ไขมติ ครม.จากเดิมที่เห็นชอบให้จัดซื้อรถเมล์ NGV เป็นจัดซื้อรถไฟฟ้า ที่ผลิตในไทยในจำนวนหนึ่งให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ โดยเน้นคุณภาพ ความปลอดภัย เพื่อนำร่องอุตสาหกรรมยานยนต์ในด้านนี้ ซึ่งพบว่า อุตสาหกรรมด้านนี้ในไทย มีความพร้อม และเป็นฐานการผลิตอันดับแรกในอาเซียนได้ในอนาคต เบื้องต้นรัฐบาลจะเป็นผู้รับซื้อเอง โดยเฉพาะ ขสมก.ที่จะมีการจัดซื้อรถเมล์ไฟฟ้า จำนวน 500 คน โดยมีการสั่งนำเข้ารถไฟฟ้า มาเพียง 1 คัน เพื่อศึกษา จากนั้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย จะมีการประกอบชิ้นส่วน เพื่อจัดทำขึ้น ก่อนที่จะนำเรื่องนี้เข้าสู่ ครม.พิจารณาต่อไป

สำหรับการลงทุนด้านระบบราง นั้น เห็นว่า ในอีก 10 ปีข้างหน้า จะไม่มีการต่างคนต่างทำ รัฐบาลจึงกำหนดให้ผู้ทำทำสัญญาเดินรถ ต้องใช้กรอบและมาตรฐานเดียวกัน และใช้งานร่วมกันได้ เช่นเดียวกันจะมีโรงประกอบในประเทศ เป็นต้น ขณะที่ภาคเอกชนก็ต้องปรับตัว เพราะในอนาคต ประเทศเพื่อนบ้าน อย่าง ลาว มาเลเซีย อินโดนีเซีย ก็จะมีการลงทุนด้านนี้ในประเทศ ทำให้ไทยสามารถที่จะต่อยอด ในเรื่องนี้ได้ เพราะไทยได้ริ่เริ่ม และมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านนี้แล้ว

นอกจากนี้ที่ประชุม ยังเห็นชอบขยายผลการถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชนบท ตั้งเป้า 200 ชุมชนทั่วประเทศ ใน 2 ปี เพื่อรองรับการแก้ปัญหาภัยแล้งในอนาคตนี้ เช่น รัฐบาล สนับสนุนงบประมาณ 10 ล้านบาท เพื่อหาพืชชนิดอื่นมาปลูกทดแทน อาทิ การเตรียมเมล็ดพันธ์ถั่วเขียว เพื่อให้เกษตกรเพาะปลูก ซึ่งโรงงานผลิตวุ้นเส้น พร้อมรับซื้อในราคาที่ดี เป็นต้น ขณะที่สินค้า ต่างๆ ในกลุ่ม 12 คลัสเตอร์ ก็จะมีการพัฒนานวัตกรรมร่วมกับ สวทช. เช่น เครื่องมือทางการแพทย์ ที่ได้ราคาสูง และยังเป็นสินค้าส่งออกที่อยู่ในทิศทางดี


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ