ตลอดจนบทบาทของกองทุนการเงินระหว่างประเทศเกี่ยวกับการทำหน้าที่สอดส่องดูแลเศรษฐกิจ รวมถึงบทบาทของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศในการบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ยั่งยืน ซึ่งมีเป้าหมายในการพัฒนาความเป็นอยู่ของประชากรโลก ในด้านต่างๆ อาทิ การศึกษา สุขภาพ เป็นต้น รวมถึงได้มีการหารือในประเด็นผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในอนาคต เช่น กรณีของไทยที่มีจำนวนประชากรในวัยทำงานคาดว่าอยู่ในระดับต่ำ และปัญหาสังคมผู้สูงอายุที่อาจเป็นภาระทางการคลังในอนาคต
ทั้งนี้ รมช.คลัง ได้เข้าร่วมการเสวนาโต๊ะกลมระหว่างนางคริสทีน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ และ รมช.คลัง และผู้ว่าการธนาคารกลางของอาเซียน 10 ประเทศ (ASEAN Roundtable Meeting) ในประเด็นความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของระบบการเงินโลก การเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีต่อ ASEAN ที่แม้ปัจจุบันจะยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ก็ตาม แต่ก็จำเป็นต้องระมัดระวังความเสี่ยงของประเทศกำลังพัฒนา หนี้ภาคเอกชน รวมถึงการแสวงหาความร่วมมือมากขึ้นระหว่างกองทุนการเงินระหว่างประเทศกับอาเซียน
นอกจากนี้ รมช.คลัง ได้หารือทวิภาคีกับนาย Hiroshi Watanabe ประธานธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan Bank for International Cooperation: JBIC) เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนญี่ปุ่นในโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยผ่านการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของภาครัฐ (Public-Private Partnership: PPP) และบทบาทของ JBIC ในการสนับสนุนโครงการดังกล่าว และได้มีการหารือกันเกี่ยวกับการเข้าร่วมสนับสนุนของญี่ปุ่นในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายในระยะที่สอง เนื่องจากเป็นโครงการที่มีวงเงินลงทุนและต้องอาศัยเทคโนโลยีระดับสูง
นาย Axel Van Trotsenberg รองประธานธนาคารโลก ได้พบปะกับ รมช.คลังของไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างประเทศไทยกับธนาคารโลก โดยขณะนี้ธนาคารโลกอยู่ระหว่างการทำการศึกษาอุปสรรคและโอกาสในการพัฒนาเพื่อลดความยากจนและส่งเสริมการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรมของประเทศไทย เพื่อบ่งชี้ปัจจัยหลักๆ ที่ประเทศไทยควรให้ความสำคัญ เพื่อให้สามารถเติบโตได้อย่างทั่วถึงและยั่งยืน และเพื่อเป็นฐานในการจัดทำกรอบความเป็นหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนาประเทศ ระหว่างประเทศไทยกับธนาคารโลกเพื่อกำหนดบทบาทของธนาคารโลกในการส่งเสริมการพัฒนาในประเทศไทยต่อไป
และเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2558 ได้เข้าร่วมการประชุมประจำปีสภาผู้ว่าการธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ประจำปี 2558 โดยนาย Kordje Bedoumra รมว.คลัง จากสาธารณรัฐชาด(Republic of Chad) ทำหน้าที่ประธานการประชุม
นายจิม ยอง คิม ประธานธนาคารโลก กล่าวว่า ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ และความผันผวนของระบบการเงินโลก ประเทศกำลังพัฒนาจำเป็นต้องดำเนินการอย่างน้อย 3 ประการเพื่อให้สามารถพัฒนาเศรษฐกิจไปสู่เป้าหมายในการลดความยากจนได้อย่างยั่งยืน เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบมีส่วนร่วม ซึ่งถือเป็นทางออกของการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยังยืน การลงทุนในทรัพยากรมนุษย์ผ่านทางการศึกษาและระบบสุขภาพของประเทศ โดยเฉพาะการให้โอกาสทางเศรษฐกิจกับผู้หญิง เนื่องจากเป็นกลุ่มที่เมื่อมีรายได้แล้วจะนำไปลงทุนด้านการศึกษาและสุขภาพของครอบครัว และการประกันความเสี่ยงให้กับประชาชนจากภัยธรรมชาติที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ด้วยการร่วมมือกันในการลดภาวะโลกร้อนเพื่อส่งต่อให้คนรุ่นถัดไป
ขณะที่นางคริสทีน ลาการ์ด กรรมการผู้จัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ กล่าวถึงสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปว่า ไม่ว่าจะเป็นความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ รวมถึงโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนไป ทุกประเทศจำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าวด้วย สำหรับ IMF เองก็ต้องการการปรับเปลี่ยนด้วยเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นด้านความคล่องตัวในการให้ความช่วยเหลือ การให้คำปรึกษาแบบองค์รวม และการตอบสนองความต้องการของสมาชิกให้มากขึ้น
นอกจากนี้ รมช.คลังของไทยยังได้มีโอกาสหารือทวิภาคีกับนาย Kiyoshi Kodera รองประธานองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency: JICA) เกี่ยวกับโครงการทวาย การลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงภายใต้บันทึกความร่วมมือด้านระบบรางระหว่างไทยและญี่ปุ่นที่ JICA อยู่ระหว่างจัดทำรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการ และโครงการพัฒนาเส้นทางรถไฟตามแนวระเบียงเศรษฐกิจด้านใต้ และการให้บริการขนส่งสินค้าทางราง รวมทั้งการสนับสนุนเงินกู้เงื่อนไขผ่อนปรนสำหรับโครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงในระยะต่อไปด้วย
ต่อมา ในวันที่ 10 ต.ค.58 ในการประชุมคณะกรรมการพัฒนาการธนาคารโลก ครั้งที่ 92 ที่ประชุมเห็นด้วยถึงความจำเป็นที่สถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ (Multilateral Development Banks: MDBs) จะต้องเร่งดำเนินการแสวงหาแนวทางเพื่อให้มีทรัพยากรทางการเงินเพื่อการพัฒนาที่เพียงพอสำหรับตอบสนองต่อความต้องการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในปี ค.ศ.2030 (Sustainable Development Goals: SDGs) ซึ่งเพิ่งได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมใหญ่สหประชาชาติเมื่อปลายเดือนก.ย.ที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นการทบทวนโครงสร้างการถือหุ้นในสถาบันการเงินระหว่างประเทศเพื่อให้ประเทศกำลังพัฒนามีสิทธิมีเสียงมากขึ้น การให้ความช่วยเหลือเพื่อปฏิรูปนโยบายการคลังเพื่อให้ประเทศสมาชิกสามารถเพิ่มสัดส่วนรายได้จากภาษีให้สูงขึ้น การนำทรัพยากรทางการเงินของภาคเอกชนเข้ามาร่วมในโครงการพัฒนาต่างๆ และที่ขาดไม่ได้คือการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
ขณะที่นายบัน คี มูน เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกให้ความสำคัญในฐานะที่เป็นเจ้าของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ขณะเดียวกัน ธุรกิจเอกชนก็ควรนำเป้าหมายการพัฒนาเหล่านี้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าเป้าหมายการพัฒนาที่กำหนดไว้จะนำไปสู่ความเท่าเทียมและลดปัญหาความยากจนได้อย่างแท้จริง