นายบรรยง กล่าวว่า รัฐวิสาหกิจที่มีกำไรมักจะมีการผูกขาด ขณะที่รัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนจะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ตัองมีการแข่งขันกับภาคเอกชน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการปฏิรูประบบบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งไม่ใช่การแก้ไขเป็นครั้งคราว แต่จะต้องเป็นการแก้ไขที่ยั่งยืน และเพิ่มประสิทธิภาพควบคู่ไปกับการเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินงานให้มากขึ้น
โดยเป้าหมายในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจที่สำคัญ 4 เรื่อง คือ 1.ปฏิรูปให้รัฐวิสาหกิจทำภารกิจที่ควรจะทำ และบูรณาการให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศ 2.ปฏิรูปให้รัฐวิสาหกิจทำภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ ประสบผลสำเร็จอย่างยั่งยืน 3.ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจให้ทำภารกิจอย่างโปร่งใส ไม่เกิดความรั่วไหลในเรื่องของงบลงทุนที่มีสูงถึง 5.1 ล้านล้านบาท และ 4.ปฏิรูปให้รัฐวิสาหกิจใช้ทรัพยากรของชาติได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด
นายบรรยง กล่าวว่า การแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจที่อยู่ระหว่างการฟื้นฟู 7 แห่ง มีประเด็นว่าต้องทำอย่างไรให้รัฐวิสาหกิจเหล่านี้ประสบความสำเร็จในระยะยาว และจะมีรัฐวิสาหกิจ 2 แห่งที่ถูกดึงไปอยู่ภายใต้ซุปเปอร์โฮลดิ้ง ได้แก่ บมจ.ทีโอที ที่มีพนักงานกว่า 2,000 ราย ขาดทุนปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท แต่ได้สิทธิลงทุน 3G โดยไม่ต้องเสียค่าสัมปทาน ซึ่งปรากฎว่าปัจจุบัน 3G มีอยู่ 85 ล้านเลขหมาย แต่ บมจ.ทีโอที กลับมีส่วนแบ่ง 3G แค่ 4 แสนเลขหมาย ซึ่งเป็นการสะท้อนว่าถ้าไม่มีการปรับโครงสร้างก็คงต้องออกไปจากการแข่งขันกับเอกชนรายอื่น