"เมกะโปรเจ็คท์ไม่ใช่มีไว้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เพื่อรองรับการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต" นายอาคม กล่าว
รมว.คมนาคม คาดว่า อีก 5 ปีข้างหน้า เศรษฐกิจในต่างจังหวัดจะดีขึ้นเพราะการค้าชายแดน ประกอบกับการพัฒนาการขนส่งที่ดีขึ้น เนื่องจากโครงข่ายการเชื่อมโยงการเดินทางสะดวกสบายขึ้น เพราะมีอีเพย์เมนท์ระบบขนส่งมวลชน ทั้งรถเมล์ รถไฟฟ้า จะมีการใช้บัตรเติมเงินหรือระบบตั๋วร่วมเพื่อชำระค่าโดยสาร
นายอาคม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมมีกิจกรรม 3 ด้านที่จะตอบโจทย์การพัฒนากิจการด้านคมนาคม คือ 1.ขับเคลื่อนโครงการลงทุนภาครัฐ 2.ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน และ 3.การแก้ไขปัญหา
ภารกิจการขับเคลื่อนเมกกะโปรเจ็กต์เพื่อสนับสนุนคมนาคมขนส่ง จะต้องมีการพัฒนาเส้นทางเพื่อเชื่อมโยงประเทศเพื่อนบ้านและกลุ่มประเทศในอาเซียน นอกจากนี้ จะต้องสนับสนุนการเติบโตของการบริการโดยมีความชัดเจนว่า รัฐบาลสนับสนุนการขยายอีสเทิร์นซีบอร์ด แบ่งการพัฒนาเป็นคลัสเตอร์ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษในจังหวัดเป้าหมาย และมีการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยใช้โครงสร้างพื้นฐาน
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ขณะนี้กระทรวงฯ อยู่ระหว่างพัฒนาการขนส่งระบบราง โดยพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ขนาด 1เมตร 6 เส้นทาง ซึ่งอยู่ระหว่างการเปิดประกาศประกวดราคา 2 เส้นทาง ส่วนอีก 4 เส้นทาง คาดจะประกวดราคาได้ในปีหน้า
สำหรับโครงการความร่วมมือพัฒนาโครงการรถไฟขนาดราง 1.435 เมตร เช่น โครงการรถไฟไทย-จีน และรถไฟไทย-ญี่ปุ่น ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการ ในส่วนเส้นทางแม่สอด-มุกดาหาร เป็นเส้นทางอีสต์-เวสท์คอริดอร์อีกเส้นทางหนึ่งนั้น ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ได้ศึกษาแนวเส้นทางแม่สอด-นครสวรรค์ และบ้านไผ่-นครพนม เพื่อเชื่อมเส้นทางแต่ยังขาดในส่วนการเชื่อมต่อระหว่าง นครสวรรค์-บ้านไผ่ ซึ่งจะต้องศึกษาและทำให้เชื่อมต่อเส้นทางกันได้หมด
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ส่วนโครงการรถไฟฟ้าจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่-บางซื่ออย่างเป็นทางการเดือน ส.ค.59 โดยจะเปิดทดสอบการเดินรถเดือน พ.ค.-มิ.ย.ปีหน้า ซึ่งการเปิดให้บริการดังกล่าวถือว่าเร็วกว่ากำหนดเดิมถึง 5เดือน
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ส่วนต่อขยายช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ หาก ครม.อนุมัติโครงการภายในปีนี้ กระบวนการร่างทีโออาร์และประกวดราคาคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 8 เดือนถัดจากนี้ ขณะเดียวกันช่วงครึ่งปีหน้ากระทรวงคมนาคมจะผลักดันโครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีแดง(ช่วงบางซื่อ-หัวหมาก และบางซื่อ-หัวลำโพง) และเชื่อมโครงการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ช่วงพญาไท-ดอนเมือง ให้เดินหน้าให้ได้
รมว.คมนาคม กล่าวว่า ส่วนการตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นการลดภาระงบประมาณ ซึ่งที่ผ่านมาโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าได้ทำอยู่แล้ว คือรัฐลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และเอกชนลงทุนระบบรถ บริหารการเดินรถ อย่างไรก็ตาม หากต้องการให้ประชาชนและเอกชนทั่วไปสนใจกองทุนโครงสร้างพื้นฐานจะต้องมีผลตอบแทนคืนสู่นักลงทุนตั้งแต่ปีแรก ซึ่งต่อไปรัฐจะมีลักษณะการร่วมทุนแบบพีพีพี เอกชนลงทุนในโครงการทั้งหมด แต่เอกชนยังต้องการให้รัฐเข้ามาข่วยแบ่งเบาภาระในบางส่วน ซึ่งก็จะกลับไปเป็นแบบเดิม
ด้านนายสมคิด กล่าวว่า การร่วมทุนแบบพีพีพีในการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานมีกลุ่มธุรกิจบางประเภทได้ประโยชน์ เช่น กลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องเปิดโอกาสให้กลุ่มดังกล่าวเข้ามาร่วมทุนแบบที่ปรึกษาโครงการและเสนอรูปแบบการลงทุนที่รัฐได้ประโยชน์เข้ามาให้เลือก ไม่ใช่แต่ละโครงการมีแต่เอกชนรายเดิมๆเพียงไม่กี่รายสนใจเช่นทุกวันนี้