ทั้งนี้ หนี้ของรัฐบาลมียอดหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น 19,508.47 ล้านบาท ซึ่งการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจากการกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 33,000 ล้านบาท การกู้เงินเพื่อการลงทุนจากแหล่งเงินกู้ในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 6,025.17 ล้านบาท ประกอบด้วยการกู้เงินเพื่อให้รัฐวิสาหกิจกู้ต่อ จำนวน 2,661.08 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย จำนวน 791.67 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีเขียว และสายสีม่วง การรถไฟแห่งประเทศไทย จำนวน 68.02 ล้านบาท สำหรับดำเนินโครงการปรับปรุงทางรถไฟที่ไม่ปลอดภัย 8 สายทาง และ บมจ.การบินไทย(THAI) จำนวน 1,801.39 ล้านบาท สำหรับโครงการซื้อเครื่องบินแอร์บัส A340-600
การกู้เงินบาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ จำนวน 3,147 ล้านบาท การชำระหนี้ต้นเงินกู้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 20,345 ล้านบาท โดยแบ่งเป็น ภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟู (FIDF 1) จำนวน 13,466.33 ล้านบาท และภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูระยะที่ 2(FIDF 3) จำนวน 6,878.67 ล้านบาท
สำหรับหนี้ของรัฐวิสาหกิจที่ไม่เป็นสถาบันการเงิน มียอดหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น 5,293.34 ล้านบาท โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดจาก ผลของอัตราแลกเปลี่ยนทำให้หนี้ต่างประเทศสกุลต่างๆ เพิ่มขึ้น 6,685.19 ล้านบาท การชำระคืนหนี้มากกว่าการเบิกจ่ายเงินกู้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้หนี้ลดลง 1,391.85 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการชำระหนี้ต่างประเทศ ของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) 1,599.39 ล้านบาท การไถ่ถอนพันธบัตรของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 2,000 ล้านบาท และการออกพันธบัตรของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค 3,000 ล้านบาท เพื่อการลงทุนตามโครงการและเป็นเงินบาทสมทบสำหรับโครงการเงินกู้ต่างประเทศ
หนี้ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นสถาบันการเงิน (รัฐบาลค้ำประกัน) มียอดหนี้คงค้างลดลง 7,478.14 ล้านบาท โดยมีรายการที่สำคัญ ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรชำระหนี้เงินต้นที่กู้มาเพื่อดำเนินโครงการรับจำนำข้าว โดยใช้เงินจากการระบายข้าว จำนวน 5,460 ล้านบาท และธนาคารอาคารสงเคราะห์ไถ่ถอนพันธบัตรที่กู้มาเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ที่ครบกำหนด จำนวน 2,000 ล้านบาท
หน่วยงานของรัฐ มียอดหนี้คงค้างเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า จำนวน 847.46 ล้านบาท โดยรายการที่สำคัญเกิดจากการกู้เงินของกองทุนอ้อยและน้ำตาลทราย เพื่อดำเนินโครงการการให้ความช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของชาวไร่อ้อยในฤดูผลิต ปี 2557/2558 จำนวน 872.31 ล้านบาท
หนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ส.ค. 58 เท่ากับ 5,736,644.08 ล้านบาท แบ่งเป็น หนี้ในประเทศ 5,384,061.20 ล้านบาท หรือร้อยละ 93.85 และหนี้ต่างประเทศ 352,582.88 ล้านบาท (ประมาณ 10,052.92 ล้านเหรียญสหรัฐ) หรือเท่ากับร้อยละ 6.15 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง และหากเปรียบเทียบกับเงินสำรองระหว่างประเทศ จำนวน 155,838.10 ล้านเหรียญสหรัฐ (ข้อมูล ณ 31 ส.ค.58) หนี้ต่างประเทศ จะคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 6.45 ของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงเสถียรภาพและความมั่นคงในด้านการเงินของประเทศ โดยหนี้สาธารณะ แบ่งออกเป็น หนี้ระยะยาวถึง 5,542,534.01 ล้านบาท หรือร้อยละ 96.62 และมีหนี้ระยะสั้น 194,110.07 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.38 ของยอดหนี้สาธารณะคงค้าง