การบริหารจัดการหนี้ของรัฐบาล วงเงิน 61,744.57 ล้านบาท ประกอบด้วย ผลการกู้เงินในประเทศของรัฐบาล จำนวน 37,081.69 ล้านบาท แบ่งเป็น การกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ จำนวน 33,000 ล้านบาท การเบิกจ่ายเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำ จำนวน 75 ล้านบาท การเบิกจ่ายเงินกู้ให้กู้ต่อ จำนวน 859.69 ล้านบาท การเบิกจ่ายเงินกู้บาททดแทนการกู้เงินตราต่างประเทศ จำนวน 3,147 ล้านบาท
ส่วนการกู้เงินและเบิกจ่ายเงินกู้จากต่างประเทศของรัฐบาล กระทรวงการคลังได้มีการเบิกจ่ายเงินกู้และการลงนามสัญญาเงินกู้จากต่างประเทศ จำนวน 1,943.48 ล้านบาท โดยมีรายละเอียด ดังนี้ 1.การกู้เงิน Euro Commercial Paper หรือ ECP Programme จำนวน 1,801.39 ล้านบาท เพื่อให้กู้ต่อแก่บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) สำหรับโครงการซื้อเครื่องบิน แอร์บัส A340-600 2.การเบิกจ่ายเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชีย จำนวน 142.09 ล้านบาท สำหรับโครงการก่อสร้างทางสายหลักให้เป็น 4 ช่องจราจร (ระยะที่ 2) ของกรมทางหลวง
ด้านการชำระหนี้ของรัฐบาล จำนวน 22,719.40 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้โดยตรง จำนวน 672.44 ล้านบาท แบ่งเป็น - ชำระต้นเงิน จำนวน 374.49 ล้านบาท ซึ่งเป็นการชำระหนี้ต่างประเทศ โดยใช้เงินงบประมาณทั้งจำนวน - ชำระดอกเบี้ย จำนวน 297.95 ล้านบาท โดยใช้เงินงบประมาณทั้งจำนวน แบ่งเป็น ดอกเบี้ยหนี้ในประเทศ 164.70 ล้านบาท และดอกเบี้ยหนี้ต่างประเทศ 133.25 ล้านบาท
2. การชำระหนี้ที่รัฐบาลกู้เพื่อชดเชยความเสียหายให้แก่กองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ จำนวน 22,046.96 ล้านบาท โดยใช้เงินจากบัญชีสะสมเพื่อการชำระคืนต้นเงินกู้ชดใช้ความเสียหายของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ แบ่งเป็น - การชำระหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF 1) จำนวน 13,588.68 ล้านบาท โดยเป็นการชำระต้นเงิน 13,466.33 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 122.35 ล้านบาท - การชำระหนี้ภายใต้ พ.ร.ก. ช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ (FIDF 3) จำนวน 8,458.28 ล้านบาท โดยเป็นการชำระต้นเงิน 6,878.66 ล้านบาท และชำระดอกเบี้ย 1,579.62 ล้านบาท
ส่วนการบริหารจัดการหนี้รัฐวิสาหกิจ วงเงิน 11,662.43 ล้านบาท ประกอบด้วย 1.การกู้เงินในประเทศของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 3,000 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินในประเทศของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ในรูปของพันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่รัฐบาลไม่ค้ำประกัน เพื่อการลงทุนตามโครงการและเป็นเงินบาทสมทบสำหรับโครงการเงินกู้ต่างประเทศ 2.การเบิกจ่ายเงินกู้ต่างประเทศ จำนวน 62.43 ล้านบาท โดยเป็นการเบิกจ่ายเงินกู้จากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (JICA) ของการประปานครหลวง สำหรับโครงการปรับปรุงกิจการประปาแผนหลักครั้งที่ 8 3.การปรับโครงสร้างหนี้ในประเทศของรัฐวิสาหกิจ จำนวน 8,600 ล้านบาท ประกอบด้วยการปรับโครงสร้างหนี้ของการรถไฟแห่งประเทศไทย 5,300 ล้านบาท และการเคหะแห่งชาติ 3,300 ล้านบาท
ผู้อำนวยการ สบน.กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีงบประมาณ 2559 กระทรวงการคลังตั้งเป้าหมายเพื่อชำระคืนหนี้ของกองทุน FIDF ให้สูงกว่าปีงบประมาณ 2558 ซึ่งในปี 2558 ชำระต้นเงินได้ 75,000 ล้านบาท ชำระดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมได้ 41,900 ลานบาท โดยมีกลยุทธ์ที่จะใช้ในการชำระหนี้ที่หลากหลาย ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ แนวคิดการขายหุ้นธนาคารกรุงไทย(KTB) ที่กองทุน FIDF ถือหุ้นอยู่ 50% แต่ขณะนี้ราคาหุ้นของธนาคารกรุงไทยยังไม่ถึงจุดเหมาะสมที่จะขายได้ ดังนั้นการขายหุ้นธนาคารกรุงไทยจึงยังเป็นเพียงหนึ่งในแนวคิดเท่านั้น
นอกจากนี้ ยังมีเทคนิคการชำระหนี้อื่นๆ อีกมากมาย เพราะกองทุน FIDF ยังมีสินทรัพย์อื่นๆ อีกมาก โดยเฉพาะสินทรัพย์ที่ยังอยู่ในระหว่างการดำเนินคดี ซึ่งหากคดีมีข้อยุติได้แล้วก็จะคิดเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง และสามารถนำมาชำระหนี้ได้