SME Bank เผย 9 เดือนกำไร 961 ลบ. มั่นใจสินเชื่อใหม่ 4 หมื่นลบ.ตามเป้า

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 16, 2015 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาลินี วังตาล ประธานกรรมการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.) หรือ SME Bank เผยผลการดำเนินงานในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ก.ย.58) มีกำไรสุทธิ 961 ล้านบาท โดยในเดือน ก.ย.58 มีกำไรสุทธิ 124 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลจากธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อมีคุณภาพดี(Good Loan) ทำให้มีรายได้ดอกเบี้ยรับเพิ่มขึ้น โดยมี Net Interest Margin เพิ่มขึ้นจาก ณ สิ้น มิ.ย.58 เท่ากับ 2.25% เป็น 2.52 % ณ สิ้น ก.ย.58 ขณะที่ธนาคารมีกำไรสะสมทำให้มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง(BIS Ratio) เท่ากับ 10.25%
"กำไรล่าสุด 9 เดือน เราทำได้ 961 ล้านบาท ก็ใกล้เคียงกับเป้าหมาย 1,000 ล้านบาท ที่เราได้เสนอไว้ในแผนฟื้นฟูฯ" นางสาลินี กล่าว

ส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPLs) ณ สิ้น ก.ย.58 คงเหลือ 26,123 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30.87% ของสินเชื่อรวม โดยเดือน ก.ย.58 NPLs ลดลงจากเดือนก่อนหน้ามากพอสมควรจำนวน 887 ล้านบาท หลังจากธนาคารมีการขายลูกหนี้ออกไปและมีการปรับโครงสร้างหนี้

ขณะที่เงินให้สินเชื่อ ณ สิ้น ก.ย.58 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้าง 84,622 ล้านบาท เป็นจำนวนลูกหนี้ทั้งหมด 69,147 ราย โดยลูกหนี้มีจำนวนรายเพิ่มขึ้นจาก ณ ธ.ค.57 เท่ากับ 1,472 ราย ลูกหนี้ใหม่ทุกรายที่เพิ่มขึ้นมีวงเงินต่ำกว่า 15 ล้านบาท และนับถึงวันที่ 15 ต.ค.58 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 22,391 ล้านบาท มีลูกค้าใหม่ 9,491 ราย โดยมียอดสินเชื่อเฉลี่ยต่อราย 2.36 ล้านบาท

ในส่วนของสินเชื่อ Policy Loan ดอกเบี้ยต่ำ 4% ขณะนี้มีคำขอจากลูกค้า ซึ่งธนาคารได้พิจารณาเบื้องต้นอยู่ในข่ายจะสามารถอนุมัติได้เพียงวันที่ 15 ต.ค.58 เป็นวงเงิน 12,954.87 ล้านบาท ลูกค้า 2,837 ราย ในจำนวนนี้ 76.67% เป็นผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัว และธนาคารสามารถอนุมัติสินเชื่อ Policy Loan ได้แล้ว 2,006.68 ล้านบาท ลูกค้า 630 ราย(เฉลี่ยรายละ 3.18 ล้านบาท) ส่วนสินเชื่อ Soft Loan ดอกเบี้ยต่ำ 4% ธนาคารได้เริ่มดำเนินการแล้วนับถึงวันที่ 15 ต.ค.58 ได้รับคำขอสินเชื่อวงเงิน 9,345.66 ล้านบาท ลุกค้า 2,447 ราย สามารถอนุมัติได้ 1,165.66 ล้านบาท ลุกค้า 413 ราย(เฉลี่ยรายละ 2.82 ล้านบาท)

"การอนุมัติสินเชื่อไตรมาส 3 ค่อนข้างช้า เพราะต้องทำแนวทางในการปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำซึ่งแตกต่างจากสินเชื่อทั่วไป แต่ขณะนี้เจ้าหน้าที่สาขาและวิเคราะห์สินเชื่อของธนาคารเริ่มคุ้นเคยกับระบบการอนุมัติสินเชื่อที่ปรับปรุงใหม่ จึงเชื่อว่าการอนุมัติสินเชื่อในไตรมาส 4 จะทำได้รวดเร็วขึ้นมาก" นางสาลินี กล่าว

สำหรับการพัฒนาผู้ประกอบการ ธนาคารฯ ร่วมกับ สสว.โดยมุ่งเน้นการบ่มเพาะผู้ประกอบการ SMEs รายใหม่ ซึ่ง สสว.จะเป็นแกนหลักในการบ่มเพาะร่วมกับสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และบทบาทของธนาคารในเรื่องนี้ คือ การสนับสนุนผู้ประกอบการที่ผ่านการบ่มเพาะมีความตั้งใจแน่วแน่ และมีศักยภาพเพียงพอที่จะประกอบกิจการ SMEs ได้ โดยธนาคารฯ จะพิจารณาให้สินเชื่อหรือร่วมลงทุนด้วย นอกจากนั้นธนาคารฯ ร่วมกับ สสว.ในโครงการพัฒนาวิสาหกิจชุมชนให้มีรายได้เพิ่มขึ้นด้วยการปรับปรุงคุณภาพผลผลิตทางการเกษตรและอุตสาหกรรมของวิสาหกิจชุมชนให้เป็นที่ต้องการมากขึ้น และจะช่วยในเรื่องการจัดจำหน่ายด้วย

ส่วนโครงการร่วมลงทุน(Venture Capital)นั้น ธนาคารฯ พยายามเร่งดำเนินการในเรื่องนี้ แต่การเข้าร่วมลงทุนกระทำได้ไม่เร็วนักเพราะมีข้อจำกัด เนื่องจากไม่สามารถหาพี่เลี้ยง(Asset Manager) ได้มากเพียงพอ SMEs ที่ธนาคารฯ คัดสรรเป็นเป้าหมายร่วมลงทุนได้อย่างทั่วถึง

อย่างไรก็ตาม เพียงสิ้นเดือน ก.ย.58 มี SMEs ที่ธนาคารฯ จะสามารถร่วมลงทุนได้จำนวน 380 ล้านบาท แยกเป็น เตรียมจะลงเงินใน SMEs ขนาดเล็กที่มีศักยภาพ 2 ราย(ธุรกิจด้านไอทีและอาหาร) รวมเป็นเงินลงทุน 20 ล้านบาท SMEs ที่จะต้องดูแลการทำแผนธุรกิจก่อนให้เงินลงทุนอีก 2 ราย(ธุรกิจด้านอาหารและเครื่องสำอางค์) รวมเงินลงทุน 60 ล้านบาท นอกจากนี้มี SMEs ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาร่วมลงทุนอีก 20 ราย(ธุรกิจด้านอาหาร ยานยนต์ และไอที) รวม 300 ล้านบาท

นางสาลินี กล่าวว่า ธนาคารฯ ยังมั่นใจว่าปีนี้จะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 40,000 ล้านบาทตามเป้าหมายที่วางไว้ แม้ในช่วง 9 เดือนของปีนี้ จะสามารถปล่อยสินเชื่อได้ 22,391 ล้านบาท และยังขาดอยู่อีกถึง 18,000 ล้านบาทก็ตาม เนื่องจากมีความมั่นใจในศักยภาพการทำงานของสาขาที่มีอยู่ 95 แห่งทั่วประเทศ ประกอบกับมีการปรับเปลี่ยนผู้ดูแลสายงานวิเคราะห์สินเชื่อ ซึ่งจะทำให้การวิเคราะห์สินเชื่อหรือการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้แก่ลูกค้าเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ในขณะเดียวกันก็มีความรอบคอบมากขึ้นด้วย

"ถามว่าเป้า 4 หมื่นล้านบาทจะไหวไหม เหลืออีก 3 เดือนยังขาดอยู่ 18,000 ล้านบาท เรามี 95 สาขา ซึ่งถามสาขาแล้วว่าหากทำได้เดือนละ 100 ล้านบาท/สาขา/เดือน สาขาบอกว่าทำไหวทำได้แน่นอน ก็เท่ากับจะได้เดือนละ 9,500 ล้านบาท ดังนั้นเหลืออีก 3 เดือน ก็ทำได้ 18,000 ล้านบาทอยู่แล้ว" นางสาลินี กล่าว

ด้านนายพงชาญ สำเภาเงิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ SME Bank กล่าวว่า ได้ให้นโยบายแก่เจ้าหน้าที่ในการวิเคราะห์สินเชื่อว่าลูกค้าที่มีศักยภาพนั้น ธนาคารฯจะส่งเสริมอยู่แล้ว ส่วนลูกค้าที่มีฐานะทางการเงินที่เราต้องช่วยประคองธุรกิจนั้นเราจะช่วยให้คำที่ปรึกษา และร่วมมองแนวทางการแก้ไขปัญหาของธุรกิจให้แก่ลูกค้า ซึ่งทำให้ปัจจุบันสามารถอนุมัติสินเชื่อในแต่ละวันได้เพิ่มขึ้นจากเดิม 2 เท่า และจะพยายามทำให้เพิ่มมากขึ้นเป็น 3-4 เท่า โดยล่าสุดมียอดอนุมัติสินเชื่อประมาณ 300 ล้านบาทต่อวัน

นางสาลินี กล่าวถึงเป้า NPLs ที่ธนาคารตั้งไว้ ณ สิ้นปีนี้ว่าจะอยู่ที่ราว 20,000 ล้านบาทว่า ปัจจุบันยอด NPLs ของธนาคารฯ ณ สิ้นเดือน ก.ย.58 อยู่ที่ 26,123 ล้านบาท ซึ่งการที่จะทำให้ยอด NPLs ลดลงมาใกล้เคียงกับเป้าที่ตั้งไว้นั้นคงต้องเน้นเรื่องการขายเป็นหลัก เพราะการปรับโครงสร้างหนี้นั้นได้ทำไปมากแล้ว และต้องพยายามปล่อยสินเชื่อใหม่ในลักษณะที่เป็น Good Loan และเป็นไปตามพันธกิจของธนาคารฯ ให้ได้ รวมทั้งต้องไม่ลืมเรื่องการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs และเรื่อง Venture Capital ซึ่งเป็นพันธกิจที่สำคัญและยังทำได้น้อย

"ตอนนี้ NPLs เราอยู่ที่ 26,000 ล้านบาท ถ้าจะให้ได้ตามเป้าคือ 20,000 ล้านบาท ตอนนี้ยังเหลืออีก 3 เดือน ก็ต้องขึ้นอยู่กับการขายเป็นหลักแล้ว เพราะการปรับโครงสร้างหนี้คงยาก ซึ่งหนี้ที่พอจะปรับโครงสร้างได้ก็ทำไปเยอะแล้ว อีกทางหนึ่งคือต้องสกัดลูกหนี้เดิมไม่ให้มีการตกชั้น ดังนั้นเป้า NPLs เราจะทำให้ดีที่สุด แม้จะลดลงเหลือ 20,000 หรือเกินกว่า 20,000 เล็กน้อย แต่มันก็ไม่ได้สร้างภาระให้ธนาคาร เพราะเราตั้งสำรองครบถ้วนแล้ว และยังมีเงินสำรองส่วนเกินอีกด้วย" นางสาลินี กล่าว

ด้านนายสุรชัย กำพลานนท์วัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ SME Bank กล่าวว่า ยอด NPLs ที่เหลืออยู่ในปัจจุบันที่ประมาณ 26,000 ล้านบาทนั้น ในจำนวนนี้ 80% เป็นลูกค้ารายย่อยมากกว่า 20,000 ราย ซึ่งแนวทางการทำงานเรื่องแกัปัญหา NPLs ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้ ธนาคารฯ ไม่ได้มุ่งเน้นการใช้กระบวนการทางด้านกฎหมายเพื่อดำเนินคดีในการติดตามหนี้สินเป็นหลัก แต่ธนาคารฯ จะเน้นเรื่องการเชิญลูกค้ามาหารือเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะเป็นการช่วยลูกค้าหาทางออกในการดำเนินธุรกิจที่ติดขัดอยู่ได้

"เราทำหนังสือเชิญลูกค้ากว่า 2 หมื่นรายมาคุยเรื่องปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อลูกค้าจะได้มีสมาธิไปประกอบกิจการโดยไม่ต้องวิตกกังวล เราถือว่าถ้าผู้ประกอบการต้องการปรับโครงสร้างหนี้ เราสามารถหาทางออกหรือปรับเงื่อนไขให้ได้ ไม่มีข้อจำกัด...เราไม่ได้เร่งรัดการดำเนินคดีอย่างเดียว เราช่วยเรื่องการพัฒนาด้วย แม้จะเป็นลูกค้าที่อยู่ในขั้นตอนการดำเนินคดีหรือไม่ได้ดำเนินคดี เราสามารถเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ได้ เราจะช่วยหาทางออก" นายสุรชัย กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ