ทั้งนี้ ได้มีการตั้งคณะทำงานย่อย แบ่งเป็น 1. คณะทำงานเพื่อการใช้ยางพาราในประเทศ เสนอแนวทางการแปรรูป การพัฒนา และการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดการใช้ยางพาราภายในประเทศ มีผู้แทนกรมวิชาการเกษตร เป็นประธาน
2. คณะทำงานพิจารณาราคายางพารา เสนอแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราอย่างยั่งยืน ประเมิน และนำเสนอการแก้ไขปัญหาราคายางทั้งเฉพาะหน้า และระยะยาว มีผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร เป็นประธาน
3. คณะทำงานด้านต้นทุน และแนวทางการลดต้นทุนยางพารา จะศึกษา วิเคราะห์ต้นทุนการผลิตยางพาราในระดับเกษตรกร เสนอแนวทางการลดต้นทุนการผลิตยาง และการลดความเสี่ยงภายใต้ระบบการผลิตยางพาราด้วยวิธีการ และแนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง มีผู้แทนสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นประธาน
4. คณะทำงานเพื่อการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมยางพารา มีหน้าที่จัดทำแผนการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมร่วมกับ กยท. ติดตามการดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมร่วม และนำเสนอเพื่อพัฒนาการบริหารจัดการ มีผู้ว่าการ กยท. เป็นประธาน
5. คณะทำงานศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจยางพารา มีรองผู้ว่าการ กยท. เป็นประธาน คณะนี้จะจัดทำแผนการดำเนินงานศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจยางพารา ดำเนินการตามแผนและติดตามประเมินผล
6. คณะทำงานติดตามโครงการพัฒนายางพาราทั้งระบบ จะติดตามผลการดำเนินงานตามแนวทางการพัฒนายางพาราทั้งระบบ นำเสนอแนวทางเพื่อการพัฒนายางพาราทั้งระบบอย่างต่อเนื่อง เสนอแนะแนวทางการแก้ไขปัญหา และอุปสรรคการดำเนินงาน มีผู้ว่าการ กยท. เป็นประธาน
และสุดท้ายคือ 7.คณะทำงานติดตามการทำสวนยางภายใต้นโยบายการทวงคืนผืนป่า มีผู้อำนวยการสถาบันวิจัยยาง เป็นประธาน โดยคณะนี้จะรวบรวมความเห็นการดำเนินงานตามนโยบายทวงคืนผืนป่า ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการทำสวนยาง พร้อมข้อเสนอ ปัญหา และอุปสรรคการดำเนินงาน เสนอแนวทางที่เหมาะสม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนในระบบการจัดการร่วม ซึ่งทั้ง 7 คณะ ได้ประชุมนัดแรกแล้วที่ กยท. และจะมีการประชุมอย่างต่อเนื่อง เพื่อเร่งแก้ปัญหายางพาราทั้งระบบให้ถูกจุด
"ทุกฝ่ายตระหนักถึงความเดือดร้อนเรื่องราคายางที่เกษตรกรกำลังเผชิญอยู่แต่การแก้ไขปัญหายางพาราทั้งระบบที่สะสมเรื้อรังมานาน จำเป็นต้องใช้เวลาตามขั้นตอนและระเบียบต่างๆ ทุกฝ่ายควรหันหน้าเข้าหากัน เพื่อร่วมวิเคราะห์และหาวิธีแก้ปัญหาให้ตรงจุด ซึ่งเชื่อว่าปัญหาราคายางน่าจะได้รับการคลี่คลายในอีกไม่นาน"ผู้ว่าการ กยท. กล่าวย้ำ