นักบริหารเงิน เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้ที่ระดับ 35.31/33 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่ปิดตลาดที่ระดับ 35.31/34 บาท/ดอลลาร์
"ช่วงเสาร์อาทิตย์เงินบาทแข็งค่าขึ้นมานิดนึงแต่ไม่มาก ไปอยู่แถวประมาณ 35.25 แต่เช้ามาก็เปิดที่ 35.31/33 เพราะตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐคือ ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกนที่ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเบื้องต้นประจำเดือนต.ค. พุ่งขึ้นสู่ระดับ 92.1 จากระดับ 87.2 ในเดือนก.ย." นักบริหารเงิน กล่าว
นักบริหารเงิน มองทิศทางวันนี้น่าจะเคลื่อนไหวในกรอบแคบๆ ระหว่าง 35.25-35.35 บาท/ดอลลาร์
อย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้ยังไม่มีตัวเลขสำคัญๆเท่าไหร่ มีแค่ตัวเลขข้อมูลตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.ย.-ต.ค.ของสหรัฐฯ และ FOCUS ที่ผลประชุมธนาคารกลางยุโรป และ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นต้นของสหรัฐ
- ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 119.30 บาท/ดอลลาร์ จากเย็นวันศุกร์ที่อยู่ที่ระดับ 119.08/11 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.1370 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันศุกร์ที่อยู่ที่ระดับ 1.1340/1343 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของ ธปท.อยู่ที่ระดับ 35.3010 บาท/ดอลลาร์
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทสัปดาห์นี้ (19-22 ต.ค.)ที่ 35.15-35.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยปัจจัยที่ต้องติดตาม ได้แก่ สัญญาณที่อาจสะท้อนแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ โดยเฉพาะจากถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด และข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ข้อมูลตลาดที่อยู่อาศัยเดือนก.ย.-ต.ค. และดัชนี PMI ภาคการผลิตเดือนต.ค. (เบื้องต้น)
- ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเผยสินเชื่อที่อยู่อาศัยโค้งสุดท้ายของปีสดใส มาตรการกระตุ้น อสังหาฯ ช่วยหนุน คาดทั้งปีโตได้ในตัวเลขสองหลักที่ 10.5% แต่ห่วงหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้เกิดปัญหาหากเศรษฐกิจแย่ลง
- สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เผยเตรียมยื่นขอมาตรการภาครัฐอีกรอบ หลังมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ที่ออกมาเอื้อต่อธุรกิจรับสร้างบ้านน้อย หวังรัฐเพิ่มเติมมาตรการช่วยเหลือปลุกธุรกิจรับสร้างบ้านฟื้นตัว ระบุหากปี 59 ยังไม่มีมาตรการสนับสนุนอาจจะส่งผบกระทบความเชื่อมั่นผู้บริโภคและผู้ประกอบการทั้งระบบ ทำตลาดซึมยาว ยอมรับสิ้นปียอดขายตลาดรับสร้างบ้านแตะเพียง 9,300-9,500 ล้านบาท หดตัวจากปีก่อนหน้า 15% หรือขยายตัวต่ำสุดในรอบ 5 ปี
- ธปท.ชี้ แนวโน้มก่อหนี้ใหม่ของภาคครัวเรือนไทยเริ่มแผ่ว ต่างกับช่วง 2-3 ปีก่อนที่เร่งตัวสูง และแม้ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยจะมียอดหนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นกว่าครึ่งของทั้งระบบ แต่ตัวเลขยังไม่น่ากังวล เพราะทิศทางก่อหนี้ใหม่ยังไม่ต่างจากเดิม
- คลังถอดใจเข็นเศรษฐกิจรับปีนี้โตแค่ 2.8% ส่งออกสาหัส คาดติดลบมากกว่า 5% ลุ้นมาตรการกระตุ้นของรัฐบวกอานิสงส์เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวจีดีพีปีหน้าทะลุ 3.8% เอกชนมั่นใจปี 59 ขยับไปถึง 3.5% หวังมาตรการกระตุ้น ศก.ดันจ้างงาน-เม็ดเงินลงทุนคึกคัก จับตาภัยแล้ง-สงครามปัจจัยเสี่ยงอาจฉุดไม่ถึงฝัน
- "พาณิชย์" ประเมินเป้าส่งออกปี 59 คาดพลิกกลับสู่แดนบวก โตได้ไม่ต่ำกว่า 5% แม้ยังมีปัจจัยเสี่ยงเพียบ ทั้งเศรษฐกิจโลก ยังฟื้นตัวไม่ชัด เกิดสงครามลดค่าเงิน ราคาเกษตรตก แต่มั่นใจแผนผลักดันส่งออกที่มุ่งเจาะเป็นรายตลาด และมีกลยุทธ์การทำงานชัดเจนเอาอยู่
- นายสุวิชญ โรจนวานิช ผู้อำนวยการ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) เปิดเผยว่า สบน.กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาปรับเกณฑ์การอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติออกตราสารหนี้สกุลเงินบาท (บาทบอนด์) จากปัจจุบันที่พิจารณาปีละ 3 ครั้ง เป็นเดือนละครั้ง เพื่อให้การระดมทุนในไทยเป็นไปอย่างสะดวกขึ้น
- นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า คาดการณ์ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ปี'59 ขยายตัว 3.5% จากปีนี้ที่คาดว่าขยายตัว 2.5-3% เป็นผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จะส่งผลตั้งแต่ปลายไตรมาส 4 ของปีนี้จนถึงปีหน้า
- -สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในช่วงไตรมาส 3 ของปี 2558 ขยายตัว 6.9% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งปรับตัวต่ำกว่า 7% เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 6 ปี
- สำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยในวันนี้ว่า ยอดค้าปลีกของจีนในเดือนก.ย.ปรับขึ้น 10.9% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งขยับขึ้นเล็กน้อยจากอัตราการขยายตัว 10.8% ในเดือนส.ค.