ผู้บัญชาการศูนย์ฯ ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการของไทยในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยเน้นย้ำว่าไทยได้มีการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการระดับชาติในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม รวมทั้งมีการติดตั้งระบบติดตามตำแหน่ง (Vessel Monitoring System: VMS) และปรับปรุงระบบ การตรวจสอบย้อนกลับสินค้าประมงเพื่อให้สอดคล้องกับหลักการสากล
พร้อมได้เปิดโอกาสให้คณะทำงานฯ เข้าเยี่ยมชมศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำการประมงผิดกฎหมาย เพื่อให้เห็นถึงขั้นตอนการเฝ้าระวังการทำประมงผิดกฎหมายของศูนย์บัญชาการกลาง และศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) ที่ตั้งอยู่ทั้งหมด 28 ศูนย์ ใน 22 จังหวัดชายทะเล โดยถือเป็นโอกาสที่ดีในการสร้างความเชื่อมั่นต่อห่วงโซ่อุปทานสินค้าประมงของไทย ซึ่งจะนำไปสู่การตัดสินใจในการสานต่อการนำเข้าสินค้ากุ้งจากไทยต่อไป
ทั้งนี้ คณะทำงานฯ ได้เสนอแนะแนวทางเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแก้ไขปัญหาแรงงานการค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงให้เกิดผลเป็นรูปธรรม โดยการเพิ่มความเข้มข้นของการบังคับใช้กฎหมายและบทลงโทษ เพิ่มความถี่ในการลาดตระเวนเพื่อเฝ้าระวังและตรวจสอบเรือประมงอย่างทั่วถึง โดยเน้นย้ำว่าการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ผลการดำเนินงานที่ต่อเนื่องของไทยเพื่อเพิ่มระดับความเชื่อมั่นของประชาคมโลกมีความสำคัญ โดยเฉพาะต่อผู้บริโภคในตลาดสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป เนื่องจากมีผลต่อจิตวิทยาของผู้บริโภค
นอกจากนี้ คณะทำงานฯ พร้อมที่จะเป็นสื่อกลางในการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องให้แก่ภาครัฐ และเอกชนของสหรัฐฯ รวมทั้งสหภาพยุโรป และยินดีให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ อาทิ การพัฒนาบุคลากร การซ่อมบำรุงเรือลาดตระเวน และการใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศในการควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง เป็นต้น ซึ่งหากไทยดำเนินการตามแผนปฏิบัติการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการเสริมสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับคณะทำงานดังกล่าว จะส่งผลดีต่อการรักษาส่วนแบ่งการส่งออกกุ้งและสินค้าประมงของไทยในตลาดดังกล่าว
โดยในปี 2014 ไทยส่งออกกุ้งสด แช่เย็น แช่แข็งไปตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับ 1 ของไทย คิดเป็นมูลค่า 791 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือร้อยละ 42.64 ของการส่งออกกุ้งของไทย