แต่ในระยะยาว TPP อาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อผู้ประกอบการไทยที่ส่งสินค้าส่งออกไปยังสหรัฐฯ ที่เป็นตลาดส่งออกหลักของไทย อีกทั้งความเสี่ยงของการย้ายฐานการผลิตอาจสูงขึ้นตามกฎ RoO ที่เข้มข้นของ TPP ทำให้ผู้ประกอบการไทยเองอาจต้องมีการปรับตัวผ่านการลงทุนในการวิจัยและพัฒนา(Research and Development:R&D) เพื่อยกระดับโครงสร้างอุตสาหกรรมของไทยภายในห่วงโซ่อุปทานให้สูงขึ้น โดยเน้นการผลิตที่เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ตลอดจนมองหาโอกาสในการลงทุนในประเทศที่ยังคงได้รับ GSP
โดยประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซียหรือฟิลิปปินส์ได้แสดงเจตจำนงที่ชัดเจนในการเจรจาเพื่อเข้าร่วมกลุ่ม TPP ในระยะอันใกล้ ย่อมเกิดคำถามต่อนักลงทุนต่างชาติว่า ไทยจะดำเนินนโยบายในประเด็นด้าน TPP ไปในทิศทางใด เนื่องจากนักลงทุนต่างชาติบางส่วนอาจให้น้ำหนักต่อผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการเลือกลงทุนในประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP และนำประเด็นดังกล่าวมาเป็นหนึ่งในเกณฑ์การพิจารณาเลือกประเทศที่จะเข้าไปลงทุนในระยะกลางหรือระยะยาวได้
"ไทยควรมีท่าทีที่ชัดเจนต่อประเด็นการพิจารณาเข้าร่วม TPP ให้เร็วที่สุด เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและรักษาการเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของนักลงทุนต่างชาติในภูมิภาคอาเซียนให้ทันห้วงเวลาที่นักลงทุนต่างชาติกำลังตัดสินใจลงทุน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
นอกจากนี้ การแสดงเจตจำนงเข้าร่วม TPP ของหลายประเทศในอาเซียนย่อมนำไปสู่การแข่งขันภายในภูมิภาคอาเซียนเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติที่อาจทวีความเข้มข้นมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่กรอบ TPP ได้กำหนดมาตรฐานต่างๆ ไว้ค่อนข้างเข้มงวด ไม่ว่าจะเป็น มาตรฐานการผลิตสินค้า หรือมาตรฐานสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะส่งผลต่อแบบแผนภาคการผลิตของประเทศสมาชิกในระยะยาว ดังนั้นไทยจึงควรเร่งพัฒนาอุตสาหกรรม มาตรฐานต่างๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงโครงสร้างการผลิตระบบใหม่ที่เน้นการดึงดูดการลงทุนเชิงนวัตกรรมและลดการพึ่งพาแรงงานในสาขาที่สามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันได้ในอนาคต ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการเข้าร่วมเป็นสมาชิก TPP ของไทยในอนาคต
ทั้งนี้ไทยจำเป็นต้องศึกษาประโยชน์และต้นทุนของประเทศอันเกิดจากการเข้าร่วม TPP อย่างถี่ถ้วน โดยไม่เพียงแต่พิจารณาผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว หากต้องคำนึงถึงประเด็นอ่อนไหวต่างที่อาจส่งผลกระทบต่อสังคมและวิถีชีวิตของประชาชนในระยะยาวด้วย โดยอาจอ้างอิงข้อตกลงการเจรจาของเวียดนามหรือมาเลเซียในประเด็นอ่อนไหวต่างๆเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดเสรีภาคบริการ ประเด็นด้านแรงงานที่ไทยต้องปฏิบัติตามปฏิญญาแรงงานอันอาจส่งผลให้มีผู้ประกอบการไทยมีต้นทุนที่สูงขึ้น ประเด็นด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐที่อาจทำให้ผู้เล่นในประเทศเสียเปรียบคู่แข่งจากต่างชาติที่เพิ่มขึ้น รวมถึงประเด็นเรื่องการบังคับใช้สิทธิตามสิทธิบัตรยา(Compulsory licensing) หรือสิทธิบัตรพืชและสัตว์ตามการเข้าร่วมเป็นภาคีของอนุสัญญาการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ที่อาจกระทบต่อภาคการเกษตรได้
สำหรับ 12 ประเทศริมฝั่งแปซิฟิกที่เข้าร่วม TPP ประกอบด้วย สมาชิกอาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย เวียดนาม และบรูไน และอีก 8 ประเทศ ได้แก่ ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เม็กซิโก ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู ซึ่งบรรลุข้อตกลงไปเมื่อวันที่ 5 ต.ค.ที่ผ่านมา
ขณะที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงทางการค้าเสรีกับ 3 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ แคนาดา และเม็กซิโก โดยตลาดสหรัฐฯ คิดเป็นสัดส่วน 11% ของการส่งออกรวมของไทย ส่วนตลาดเม็กซิโกและแคนาดาคิดเป็นเพียง 1.2% และ 0.6% ตามลำดับ ดังนั้นผลกระทบต่อการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ หากไม่ได้เข้าร่วม TPP จึงเป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาเพื่อการปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจของผู้ประกอบการไทย แม้สหรัฐฯ จะต่ออายุสิทธิ GSP ให้ไทยจนถึงสิ้นปี 2560 แต่เป็นเพียงสิทธิที่ได้รับเป็นการชั่วคราว และมีความเสี่ยงจากการถูกพิจารณายกเลิกในช่วง 2 ปีข้างหน้า ขณะที่ประเทศสมาชิก TPP จะได้รับสิทธิพิเศษทางด้านภาษีอย่างถาวร
เมื่อพิจารณาผลกระทบของ TPP ในมิติของกำแพงภาษีและความสามารถในการแข่งขัน พบว่า สินค้าไทยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ตามระดับของผลกระทบของ TPP ต่อสินค้านั้นๆ ดังนี้ กลุ่มที่ 1 สินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันอยู่ในระดับต่ำ และ TPP ยิ่งตอกย้ำให้ไทยแข่งขันได้ยากขึ้น (ผลกระทบสูง) อาทิ อุตสาหกรรมผลิตสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม รองเท้า เครื่องหนัง/กระเป๋าถือ
อัตราภาษีนำเข้าของสินค้าในกลุ่มนี้ หากไม่ได้รับสิทธิ GSP จะเพิ่มขึ้นราว 0.09% มาอยู่ที่ 12.61% ซึ่งจะเป็นการยิ่งตอกย้ำความเสียเปรียบทางด้านการแข่งขัน เมื่อเทียบกับประเทศสมาชิก TPP
กลุ่มที่ 2 สินค้าที่ไทยยังคงมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในปัจจุบัน หากแต่อาจสูญเสียความสามารถในการแข่งขันระยะยาว (ผลกระทบปานกลาง) อาทิ อุตสาหกรรมผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ อุตสาหกรรมถุงมือยาง/ยางรถยนต์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์/ส่วนประกอบ
สินค้ากลุ่มนี้อาจได้รับผลกระทบจาก TPP ในระดับที่จำกัด เนื่องมาจากกำแพงภาษีที่ต้องเผชิญอยู่ในระดับที่ไม่สูงอย่างมีนัยสำคัญ จนทำให้สินค้าในกลุ่มนี้ต้องสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในสหรัฐฯให้กับประเทศ TPP
อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว สินค้าในกลุ่มนี้อาจต้องปรับตัวอันเนื่องมาจากค่าแรงของไทยที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนาม ทำให้บางอุตสาหกรรมอาจมีความเสี่ยงในการย้ายฐานการผลิตได้
และกลุ่มที่ 3 สินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันสูง โดยผลกระทบต่อไทยจากภาษีที่สูงขึ้นโดยเปรียบเทียบมีค่อนข้างจำกัด และควรรักษาความสามารถทางการแข่งขันให้ยั่งยืน (ผลกระทบต่ำ) ทั้งนี้ สินค้าในกลุ่มนี้ ถือเป็นสินค้าที่ไทยมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าเวียดนาม มาเลเซียและเม็กซิโก ซึ่งเป็นประเทศสมาชิก TPP อันเป็นผลมาจากความชำนาญในการผลิตของผู้ประกอบการไทย ได้แก่ อุตสาหกรรมผลิตอัญมณีและเครื่องประดับ ตลอดจนการมีชื่อเสียงของแบรนด์ที่ดีจนผู้บริโภคมีความมั่นใจในคุณภาพของสินค้า อาทิ อุตสาหกรรมผลิตอาหารทะเล และอาหารกระป๋อง ทั้งนี้ ด้วยความสามารถในการแข่งขันดังกล่าว ทำให้ผู้ประกอบการอาจได้รับผลกระทบจาก TPP ในระดับที่จำกัด เนื่องจากผู้ประกอบการยังคงมีศักยภาพในการรักษาส่วนแบ่งตลาดสหรัฐฯ ไว้ได้ถึงแม้อัตราภาษีจะสูงขึ้น โดยไม่มุ่งเน้นการแข่งขันทางด้านราคาเป็นสำคัญ เนื่องจากประเทศคู่แข่งของไทยใน TPP อย่างเวียดนามอาจยังไม่มีแรงงานที่มีความชำนาญเพียงพอในการผลิตสินค้าทดแทนได้ ทำให้สินค้าในกลุ่มนี้มีภูมิต้านทานต่ออัตราภาษีที่อาจสูงขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ในระยะยาว อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลและอาหารกระป๋องที่ไทยมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว อาจต้องพิจารณาเข้าลงทุนหรือซื้อกิจการในประเทศกลุ่ม TPP เพื่อต่อยอดธุรกิจ หรือควรลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาความสามารถทางการแข่งขันให้ยั่งยืน เนื่องจากเวียดนามอาจตีตื้นขึ้นมาเป็นคู่แข่งของไทย
"หากไทยไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษีจากสหรัฐฯ สินค้าส่งออกจากไทยไปยังประเทศดังกล่าวจะต้องเผชิญอัตราภาษีที่สูงขึ้น 0.4% จากปัจจุบันที่ราว 2.3% เพิ่มขึ้นเป็น 2.7% หรือคิดเป็นภาษีที่เพิ่มขึ้นราว 95 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี หากคำนวณจากมูลค่าการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯในปี 2557 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ไทยโดนอัตราภาษีสูง อาทิ สิ่งทอเครื่องนุ่งห่ม เครื่องหนัง และข้าวหอมมะลิ มีสัดส่วนของการส่งออกไปสหรัฐฯ เพียง 8% เท่านั้น ทำให้อาจกล่าวได้ว่า ผลกระทบเบื้องต้นของ TPP ต่อการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในวงจำกัด" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
สินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นและไม่ได้ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากนัก ไม่ว่าจะเป็น สินค้าขั้นปลายอย่างเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม หรือเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานการผลิต อาทิ เลนส์กล้องถ่ายรูป ผู้ประกอบการไทยควรหาวิธีการลดต้นทุนการดำเนินงานเพื่อรับมือกับความได้เปรียบของประเทศคู่แข่งจากอัตราภาษีที่ต่ำลง ไม่ว่าจะเป็น การย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านหรือเลือกทำเลการผลิตในเขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนซึ่งสามารถหาแรงงานที่ต้นทุนต่ำจากประเทศเพื่อนบ้านได้ ส่วนสินค้าที่ไทยมีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว ควรเร่งพัฒนา R&D และทรัพยากรมนุษย์เพื่อก้าวข้ามการเป็น OEM ไปสู่การเป็น ODM พร้อมเสริมสร้าง brand ให้แข็งแกร่ง ซึ่งจะยั่งยืนกว่าการแข่งขันทางด้านราคา
"อุตสาหกรรมสิ่งทอและชิ้นส่วนยานยนต์ยังไม่ได้รับผลกระทบของการย้ายฐานการผลิตในระยะสั้น หากแต่การพัฒนาอุตสาหกรรมและมาตรฐานของประเทศสมาชิก TPP อาจทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะยาว ไทยควรมีท่าทีที่ชัดเจนต่อประเด็นการพิจารณาเข้าร่วม TPP ให้เร็วที่สุด" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
ดังนั้นผู้ประกอบการไทยอาจต้องเริ่มปรับตัวด้วยการเลือกพิจารณาทยอยลงทุนในกลุ่มประเทศ TPP แทน หรือจัดเฟ้นหาวัตถุดิบจากในกลุ่มประเทศ TPP เพื่อให้ได้ตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าสะสมตามเกณฑ์ก่อนส่งออกไปประกอบในกลุ่ม TPP อีกที นอกจากนี้ผู้ประกอบการไทยยังสามารถพิจารณาเลือกลงทุนในกลุ่มประเทศที่ยังได้รับสิทธิ GSP กับสหรัฐฯอยู่ ไม่ว่าจะเป็นอินโดนีเซียหรือกัมพูชา ทั้งนี้ รายการสินค้าที่ได้รับสิทธิ GSP ในแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน จึงควรทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ก่อนเลือกลงทุน