สถาบันไฟฟ้าฯ ชี้พลังงานทางเลือกมาแรง โซล่าร์เซลล์แนวโน้มดี, ส่งออก 8 เดือนยังไม่ฟื้น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 22, 2015 10:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมบูรณ์ หอตระกูล ผู้อำนวยการสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สถาบันเครือข่ายของกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยดูจากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวม พบว่าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ส.ค.) (มีค่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 237.87) ปรับตัวลดลง 14.73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการปรับตัวลดลงของสินค้าหลายรายการ อาทิ สินค้าโทรทัศน์สี, ฮาร์ดดิสก์ ไดร์ฟ และหม้อหุงข้าว โดยปรับตัวลดลง 64.21%, 19.48% และ 17.88% ตามลำดับ

โดยการผลิตที่ตอบสนองตลาดในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นในบางผลิตภัณฑ์ เช่น พัดลม ขณะที่การปรับตัวลดลงของ ฮาร์ดดิสก์ ไดร์ฟ ซึ่งคำสั่งซื้อจากต่างประเทศยังคงผันผวนทำให้การผลิตเพื่อการส่งออกยังคงปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่สินค้าไฟฟ้าในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ส.ค.) (มีค่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 124.42) ปรับตัวลดลง 12.94% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากการผลิตที่ปรับตัวลดลงเกือบทุกสินค้า เนื่องจากการตอบสนองตลาดในประเทศที่มีความต้องการชะลอตัวลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวนัก ด้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ (มีค่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 302.22) ปรับตัวลดลง 15.14% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยปรับตัวลดลงจากการผลิต ฮาร์ดดิสก์ ไดรฟ์ เป็นหลัก เนื่องจากเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมลดลงอย่างต่อเนื่องจากสินค้าสำเร็จรูปประเภทคอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ค และคอมพิวเตอร์พีซี ปรับลดลง

“แม้ว่าภาคการส่งออกของอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ของไทยจะต้องเผชิญความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจโลกต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่สำหรับสถานการณ์การลงทุนและการค้าภายในประเทศนั้นถือว่ามีแนวโน้มดี โดยเฉพาะในกิจการที่ผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก โดยดูจากมูลค่าการขอรับการส่งเสริมการลงทุนช่วง 8 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ส.ค.) พบว่ามีมูลค่า 10,480 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยประเภทกิจการที่มีเงินลงทุนค่อนข้างสูง ได้แก่ เซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell), แผงเซลล์แสงอาทิตย์(Solar Mudule), Lighting Device และ Integrated Circuit (IC) เป็นต้น และเชื่อมั่นว่าจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจภาคอสังหาริมทรัพย์ของภาครัฐจะมีส่วนผลักดันให้เกิดความต้องการบริโภคสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ภายในประเทศเพิ่มขึ้นตามลำดับ” นายสมบูรณ์ กล่าว

ขณะที่สถานการณ์การส่งออกของสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเดือน 8 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 35,776.30 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลง 1.80% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากมีการปรับตัวลดลงของตลาดหลัก อาทิ ตลาดญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป ที่มีสัดส่วนนำเข้าสินค้าจากไทยรวมกันถึง 23% ลดลง 9.07% และ 6.45% ตามลำดับ โดยผลิตภัณฑ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์, เครื่องซักผ้า และเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น ปรับตัวลดลง 3.34%, 1.45% และ 1.28% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ตลาดส่งออกสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในภาพรวม 5 อันดับแรก ในช่วงเดือน 8 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ส.ค.) ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 6,647.62 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วนร้อยละ 18.58 เติบโต 6.71% อันดับ 2 ได้แก่ อาเซียน 6,558.74 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 18.33% เติบโต 0.47% อันดับ 3 ได้แก่ สหภาพยุโรป 4,875.34 ล้านเหรียญสหรัฐ สัดส่วน 13.63% ปรับตัวลดลง 6.45% อันดับ 4 ได้แก่ ญี่ปุ่น 3,514.13 สัดส่วน 9.82% ปรับตัวลดลง 9.07% และอันดับ 5 ได้แก่ จีน 3,172.56 สัดส่วน 8.87% เติบโต 0.02%

เฉพาะสินค้าไฟฟ้าในช่วงเดือน 8 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 15,138.59 ล้านเหรียญสหรัฐ ปรับตัวลดลง 2.92% เนื่องจากการปรับตัวลดลงของตลาดหลัก อาทิ ตลาดจีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป โดยปรับตัวลดลง 13.19%, 12.98% และ 10.26% ตามลำดับ โดยสัดส่วนตลาดส่งออกที่มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ตลาดอาเซียน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ตามลำดับ อย่างไรก็ตามมูลค่าส่งออกของสินค้าไฟฟ้า 5 อันดับแรก ปรับตัวเพิ่มขึ้นในสินค้ากล้องถ่ายโทรทัศน์ กล้องถ่ายบันทึกวิดีโอภาพนิ่ง วิดีโออื่นๆ, ตู้เย็น และเครื่องรับโทรทัศน์สี ส่วนสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ และเครื่องซักผ้า เนื่องจากตลาดส่งออกที่มีความต้องการลดลงเกือบทุกตลาด และมีการปรับตัวลดลงทุกผลิตภัณฑ์ที่ส่งออกไปยังญี่ปุ่นสะท้อนภาพตลาดส่งออกญี่ปุ่นที่ยังคงผันผวนค่อนข้างมาก

ด้านสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ในช่วงเดือน 8 เดือนแรกของปี 2558 (ม.ค.-ส.ค.) มีมูลค่าการส่งออก 20,637.71 ล้านเหรียญสหรัฐ มีการปรับตัวลดลง 0.97% ทุกตลาดส่งออกที่สำคัญของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เริ่มมีการฟื้นตัว ยกเว้นตลาดอาเซียน สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่ยังคงปรับตัวลดลง สัดส่วนตลาดส่งออกที่มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อาเซียน และสหภาพยุโรป ตามลำดับ โดยสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 5 อันดับแรกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่สินค้าเครื่องส่ง-เครื่องรับวิทยุโทรเลข วิทยุโทรศัพท์, วงจรพิมพ์, ไดโอด ทรานซิสเตอร์ และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ส่วนสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ อุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ และวงจรรวมและไมโคร แอสแซมบลี เนื่องจากการส่งออกไปยังตลาดอาเซียน และสหภาพยุโรปยังคงปรับตัวลดลง โดยอุปกรณ์ประกอบของเครื่องคอมพิวเตอร์ มีความต้องการลดลงเกือบทุกตลาด ยกเว้นตลาดสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.14%

“แนวโน้มภาพรวมการส่งออกในปี 2558 ของสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ คาดว่าจะมีมูลค่า 54,039 ล้านเหรียญสหรัฐ แบ่งเป็นสินค้าไฟฟ้ามูลค่า 22,726 ล้านเหรียญสหรัฐ และสินค้าอิเล็กทรอนิกส์มูลค่า 31,313 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะปรับตัวลดลง 3% เมื่อเทียบจากปีก่อน จากการปรับตัวลดลงของสินค้าไฟฟ้า 3.2% และการปรับตัวลดลงของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ 2.9% ทั้งนี้เนื่องจากตลาดส่งออกหลัก อาทิ ตลาดสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ยังไม่ฟื้นตัวมากนัก"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ