นอกจากนี้ รฟม.ยังเร่งดำเนินการผลักดันโครงการรถไฟฟ้าในความรับผิดชอบของ รฟม.อีก 8 โครงการ ได้แก่ 1.โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. ประกอบด้วย สถานียกระดับ 30 สถานี โดยมีแผนจะเริ่มก่อสร้างปี 2560 และเปิดให้บริการในปี 2563, 2.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. ประกอบด้วย สถานียกระดับ 23 สถานี โดยมีแผนจะเริ่มก่อสร้างปี 2560 และเปิดให้บริการในปี 2563, 3.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ส่วนตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ระยะทาง 21.1 กม. แบ่งเป็นสถานียกระดับ 7 สถานี และสถานีใต้ดิน 10 สถานี โดยมีแผนจะเริ่มก่อสร้างปี 2560 และเปิดให้บริการปี 2565, 4.โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงบางแค-พุทธมณฑลสาย 4 ระยะทางประมาณ 7 กม. ประกอบด้วยสถานียกระดับ 4 สถานี มีแผนจะเริ่มก่อสร้างปี 2560 และเปิดให้บริการปี 2564,
5.โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กม. แบ่งเป็นสถานียกระดับ 7 สถานี และสถานีใต้ดิน 10 สถานี มีแผนจะเริ่มก่อสร้างปี 2560 เปิดให้บริการปี 2563, 6.โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มส่วนตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรมฯ ระยะทาง 16.4 กม. ประกอบด้วย สถานีใต้ดิน 11 สถานี มีแผนจะเริ่มก่อสร้างปี 2560 และเปิดให้บริการปี 2565, 7.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงสมุทรปราการ-บางปู และ 8.โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงคูคต-ลำลูกลา ซึ่ง รฟม. มีแผนจะนำเสนอขออนุมัติก่อสร้างโครงการในปี 2559 และเริ่มก่อสร้างโครงการปี 2561 โดยกำหนดเปิดให้บริการปี 2565
นอกจากนี้ วันนี้ รมว.คมนาคม พร้อมคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่เพื่อตรวจเยี่ยมโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ณ สถานีสนามไชย และบริเวณอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นงานก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายฯ สัญญาที่ 2 ช่วงสนามไชย-ท่าพระ โดยได้เริ่มงานก่อสร้างเมื่อเดือนเมษายน 2554 มีงานก่อสร้างที่สำคัญได้แก่ งานก่อสร้างสถานีสนามไชย สถานีอิสรภาพ งานก่อสร้างปล่องระบายอากาศ และงานขุดเจาะอุโมงค์ฝั่งตะวันออก (Eastbound) ปัจจุบันมีความก้าวหน้าเท่ากับร้อยละ 79.27
สำหรับอุโมงค์รถไฟฟ้า ช่วงสนามไชย-ท่าพระ มีแนวเส้นทางเริ่มที่บริเวณแยกสนามไชย ลอดผ่านปากคลองตลาดและแม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านข้างวัดกัลยาณมิตร ตัดเข้าถนนอิสรภาพ บริเวณวัดราชสิทธาราม แล้วยกระดับเข้าเชื่อมต่อทางวิ่งยกระดับบริเวณแยกท่าพระ ระยะทางรวม 2.57 กม. โดยเป็นอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา ระยะทางประมาณ 200 เมตร ระดับอุโมงค์ขอบบนอยู่ใต้ท้องแม่น้ำประมาณ 10 เมตร นับเป็นการก่อสร้างอุโมงค์รถไฟฟ้าลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาครั้งแรกของประเทศไทย ปัจจุบันงานขุดเจาะอุโมงค์ฝั่ง Eastbound มีความก้าวหน้าร้อยละ 75.29 และคาดว่าจะแล้วเสร็จประมาณวันที่ 5 ธ.ค.58
ขณะที่นายอาคม กล่าวว่า สายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี วงเงิน 110,116 ล้านบาท คาดว่าจะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ภายใน 2 เดือน, สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี วงเงิน 56,690 ล้านบาท และสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง วงเงิน 54,644 ล้านบาท ได้เสนอไปยังคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(คนร.) แล้วตามขั้นตอนลงทุนรูปแบบการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน หรือ Public Private Partnerships(PPP) และสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ วงเงิน 131,003 ล้านบาท ได้เสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) เพื่อพิจารณาก่อนเสนอ ครม.ต่อไป
ด้าน พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานคณะกรรมการ รฟม. กล่าวว่า ที่ประชุมบอร์ดเมื่อวันที่ 22 ต.ค.ที่ผ่านมาได้พิจารณารูปแบบการเดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย หลังจาก ครม.เห็นชอบให้ใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยเอกชนร่วมลงทุนหรือดำเนินงานในกิจการของภาครัฐ พ.ศ.2556 แทน พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ 35 ซึ่งบอร์ดได้เห็นชอบผลการศึกษาการลงทุนเป็นแบบ PPP Net Cost คือการให้สัมปทานเอกชนเดินรถ พร้อมทั้งรับความเสี่ยงค่าโดยสาร หลังจากพิจารณาผลการศึกษาการเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียระหว่างการเดินรถต่อเนื่อง กับการเดินรถแยกอิสระกับสายสีน้ำเงินส่วนแรก ซึ่งจะช่วยให้ผู้โดยสารมีความสะดวกไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนขบวนรถ นอกจากนี้ยังสามารถประหยัดต้นทุน เนื่องจากสามารถใช้ศูนย์ซ่อมบำรุงและศูยน์ควบคุมการเดินรถร่วมกับสายเฉลิมรัชมงคลได้
โดย รฟม.จะต้องเสนอผลการศึกษาไปข้อดี-ข้อเสียทั้งหมดไปยังกระทรวงคมนาคมให้ตรวจแผน คาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้า และหากกระทรวงคมนาคมเห็นชอบจะต้องส่งเรื่องกลับมายัง รฟม. เพื่อเสนอไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.)พิจารณา และเสนอต่อคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐหรือคณะกรรมการ PPP ต่อไป ทั้งนี้ในการคัดเลือกเอกชนเข้ามาเดินรถนั้นจะเร่งรัดเพื่อให้สามารถเปิดเดินรถให้บริการภายในปี 2562