“สำหรับข้อห่วงใยเรื่องการรั่วไหลของเงินงบประมาณและการก่อหนี้ผูกพันในระยะยาวนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับการดำเนินงานที่สุจริต และตรวจสอบได้ โดยได้นำ “สัญญาคุณธรรม" หรือ Integrity Pact มาใช้ ซึ่งหน่วยงานของรัฐในฐานะผู้จัดซื้อจัดจ้าง เอกชนที่เข้ามาประมูลงาน และผู้เชี่ยวชาญในสาขาอาชีพนั้นหรือตัวแทนภาคประชาสังคม ได้ร่วมลงนามในสัญญาดังกล่าวทั้ง 3 ฝ่ายเพื่อป้องกันการรับหรือให้สินบน และจะเปิดเผยทุกขั้นตอน ส่วนโครงการใดที่มีเงินลงทุนเกินกว่า 50 ล้านบาทขึ้นไป หน่วยงานของรัฐจะต้องรายงานผลการดำเนินงานแก่คณะกรรมการติดตามและตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ (คตร.) เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
พล.ต.สรรเสริญ กล่าวว่า การลงทุนนี้ไม่ใช่การก่อหนี้ที่เป็นภาระของประเทศ แต่เป็นการก่อหนี้ที่จะสร้างรายได้ให้กับประเทศในระยะยาว ซึ่งรัฐบาลยังมีวิธีบริหารจัดการงบประมาณในการลงทุน โดยหากโครงการใดที่รัฐดำเนินการเองจะใช้การผูกพันงบประมาณหลายปี ไม่ใช่การจ่ายเงินจำนวนมากเพียงครั้งเดียว ขณะที่บางโครงการเป็นการร่วมลงทุนระหว่างรัฐกับเอกชน และบางโครงการเอกชนจะเข้ามาลงทุนทั้งหมด
“รัฐบาลขอบคุณทุกภาคส่วนที่เสนอความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีนโยบายชัดเจนที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านคมนาคมขนส่งในภูมิภาค และได้กำชับให้ทุกหน่วยงานดำเนินการด้วยความโปร่งใส เป็นธรรม และป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันทุกรูปแบบ โดยรัฐบาลดำเนินการด้วยความรอบรอบ และคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นหลัก" โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว