ปัจจุบันตลาดข้าวในฮ่องกงแบ่งกลุ่มลูกค้าเป็น 2 กลุ่มในสัดส่วนครึ่งต่อครึ่ง คือ ร้านอาหารและโรงแรม (Catering market) เป็นตลาดหลักของข้าวหอมปทุมธานี รองลงมา คือ ข้าวหอมมะลิไทย ซึ่งปัจจุบันไทยสูญเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวหอมปทุมให้กับข้าวหอมของเวียดนามค่อนข้างมาก เนื่องจากมีราคาที่ถูกกว่ามากแต่คุณภาพไม่แตกต่างกัน และซุปเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งเป็นช่องทางหลักข้าวหอมมะลิไทยในกลุ่มผู้บริโภคระดับครัวเรือนได้รับผลกระทบจากข้าวของคู่แข่งเช่นเดียวกันแต่น้อยกว่าในกลุ่มร้านอาหารและโรงแรม
ในปีที่ผ่านมา ฮ่องกงนำเข้าข้าวจากไทยปริมาณ 182,071 ตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2556 ที่มีการนำเข้าปริมาณ160,095 ตัน หรือเพิ่มขึ้น 14% ส่วนใหญ่เป็นการนำเข้าข้าวหอมมะลิไทย (77%) ข้าวหอมปทุมธานี (12%) ข้าวขาว (5%) ข้าวเหนียว (4%)
ปัจจุบัน แม้ว่ารัฐบาลฮ่องกงได้เปิดตลาดข้าวภายในประเทศให้มีการแข่งขันเสรี โดยปล่อยให้ราคาข้าว จำนวนของผู้ประกอบการ และส่วนแบ่งตลาดขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของตลาด แต่รัฐบาลยังดำเนินโครงการควบคุมการค้าข้าว (Rice control scheme) เนื่องจากต้องการสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคว่า ฮ่องกงจะมีข้าวเพียงพอสำหรับการบริโภค และมีข้าวสำรองในยามฉุกเฉินหรือจัดหาไม่ทัน
นอกจากนี้รัฐบาลยังให้ความสำคัญในเรื่องความปลอดภัยในอาหาร (Food safety) โดยข้าวที่นำเข้าต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยในอาหาร (The Public Health and Municipal Services Ordinance (Cap 132) อาทิ ข้าวที่นำเข้าต้องปราศจากโรคและแมลง โลหะหนัก น้ำมันแร่ สี และสารพิษ เป็นต้น
รัฐบาลกำหนดให้สต็อกข้าวมีเพียงพอต่อการบริโภคภายในประเทศเฉลี่ยปีละ 13,675 ตัน หรือให้เพียงพอต่อการบริโภค 15 วัน ไว้ใช้สำหรับบริโภคภายในประเทศทั้งในสถานการณ์ปกติและในยามฉุกเฉิน ทั้งนี้หากเกิดสถานการณ์การขาดแคลนข้าวฉุกเฉิน รัฐบาลมีอำนาจที่จะขอให้ผู้ประกอบการนำข้าวในสต็อกออกมาจำหน่ายหรือให้นำเข้าข้าวเพิ่มจากปริมาณที่ได้รับอนุมัติต่อปีได้
ดังนั้น กรมการค้าต่างประเทศและสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยได้หารือแนวทางการส่งเสริมและขยายส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยในฮ่องกงเพื่อให้เกิดการดำเนินการที่ต่อเนื่องและบรรลุวัตถุประสงค์ในการขยายสัดส่วนตลาดข้าวไทยในฮ่องกงตามที่ได้กำหนดไว้ ดังนี้ 1) การโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องหมายรับรองข้าวหอมมะลิไทย รวมทั้งกำหนดมาตรการบังคับใช้เพื่อเอาผิดกับผู้ละเมิดเครื่องหมายรับรองฯ
2) การจัดทำสื่อป้ายประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่บริเวณชุมชน 3) การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าข้าวหอมมะลิไทยเป็นภาษาจีน 4) การจัดการประกวดแข่งขันประกอบอาหารจากข้าวไทย (Cooking contest) และ 5) การเชิญนักข่าวฮ่องกงมาทำสารคดี/ บทความเกี่ยวกับข้าวไทยในช่วงระยะเวลาการเก็บเกี่ยวข้าวไทย ในช่วงปลายปี