ขณะที่ในช่วง 9 เดือน (ม.ค.-ก.ย.) การส่งออกลดลง 4.98% มีมูลค่า 161,563 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่วนนำเข้า ลดลง 10.46% มีมูลค่า 153,805 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือน ดุลการค้าเกินดุล 7,758 ล้านเหรียญสหรัฐฯ
นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า ระบุว่า มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรหดตัวตามราคาสินค้าเกษตรโลก โดยภาพรวมเดือนกันยายน 2558 ลดลง -9.9% (YoY) ตามทิศทางของราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่ยังคงชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญอย่างยางพารา จะมีปริมาณส่งออกสูงขึ้น แต่ราคายังคงอยู่ในระดับต่ำ ทำให้มูลค่าการส่งออกหดตัวลง โดยยางพาราหดตัว -7.4% เช่นเดียวกับ ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง และอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูป ที่หดตัวสูงถึง -28.8% -28.6% และ -7.4% (YoY) ตามลำดับ ในขณะที่ ผลไม้สด แช่แข็ง และแห้ง น้ำตาลทราย ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และไก่แปรรูป ยังคงขยายตัวสูงขึ้น 34.2% 13.1% 2.6% และ 2.4% (YoY) ตามลำดับ
มูลค่าการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม หดตัวลง โดยภาพรวมเดือนกันยายน 2558 ลดลง -1.9% (YoY) ทั้งนี้ สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งของไทยคือรถยนต์และส่วนประกอบ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 20.6% (YoY) จากการขยายตัวของการส่งออกรถยนต์นั่ง ขยายตัวสูงถึง 144.12% (YoY) ส่วนรถกระบะยังคงหดตัว -24.4% (YoY) ขณะที่ภาพรวมอุตสาหกรรมยังคงหดตัว เนื่องจากมูลค่าส่งออกสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันดิบหรืออุตสาหกรรมที่มีโครงสร้างการใช้วัตถุดิบซึ่งมาจากการกลั่นปิโตรเลียม ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ลดลงต่อเนื่องจากปีก่อนหน้ามากตามภาวะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว และมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำไปจนถึงสิ้นปี ส่วนการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมสำคัญอย่างทองคำ กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ 589.5% (YoY) เนื่องจากราคาทองคำขยับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ทำให้มีการส่งออกเพื่อทำกำไร
ทั้งนี้ หากไม่รวมสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำ มูลค่าการส่งออกรวมของไทยในเดือนกันยายน 2558 จะหดตัว -3.1% (YoY)
"การส่งออกของไทยในเดือนก.ย.58 ยังคงติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 9 ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัว แต่ทั้งนี้การส่งออกยานยนต์และส่วนประกอบยังคงขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ในขณะที่สินค้าเกี่ยวข้องกับน้ำมันยังคงมีมูลค่าส่งออกต่ำตามราคาน้ำมัน สินค้าเกษตรมีมูลค่าส่งออกต่ำตามราคาในตลาดโลก ขณะที่ข้อมูลการนำเข้าของตลาดล่าสุดแสดงว่าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดสำคัญไว้ได้"นายสมเกียรติ กล่าว
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ยังส่งผลกระทบให้การส่งออกของไทยหดตัวต่อเนื่อง มาจาก 1.ภาพรวมเศรษฐกิจโลกและตลาดคู่ค้าหลักในปัจจุบันที่ชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ส่งผลให้การนำเข้าของเกือบทุกประเทศทั่วโลกยังคงหดตัว 2.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกชะลอตัวต่อเนื่อง และยังไม่มีแนวโน้มจะฟื้นตัว โดยราคาน้ำมันดิบดูไบเดือนส.ค.58 เฉลี่ยอยู่ที่ 47 ดอลลาร์/บาร์เรล และในเดือน ก.ย.58 เฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 46 ดอลลาร์/บาร์เรล
3.ราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกปรับตัวลดลง โดยเฉพาะข้าว ยางพารา และน้ำตาล จึงส่งผลให้แม้ว่าไทยจะส่งออกในปริมาณที่ไม่ต่ำกว่าเดิม แต่มูลค่าการส่งออกกลับลดลงมาก 4.การใช้มาตรการลดค่าเงินของประเทศคู่ค้าสำคัญเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการส่งออก ซึ่งแม้เงินบาทของไทยจะอ่อนค่าอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ก็ยังหนุนมูลค่าการส่งออกได้ไม่มากนัก
สาเหตุที่มูลค่าการนำเข้าในเดือน ก.ย.นี้ติดลบสูงถึง 26.20% เนื่องจากเป็นผลของฐานการนำเข้าที่สูงมากในเดือน ก.ย.57 ที่มูลค่า 21,711 ล้านดอลลาร์ ในขณะที่มูลค่าการนำเข้าเดือน ก.ย.58 อยู่ที่ 16,022 ล้านดอลลาร์เท่านั้น ซึ่งหากเปรียบเทียบการนำเข้าสินค้าสำคัญบางรายการในเดือนก.ย.ปีนี้กับปีก่อนจะพบว่าลดลงค่อนข้างมาก เช่น การนำเข้าเครื่องบิน ก.ย.57 มีมูลค่า 632 ล้านดอลลาร์ แต่ก.ย.58 เหลือเพียง 36 ล้านดอลลาร์ ก๊าซธรรมชาติ ก.ย.57 มีมูลค่า 845 ล้านดอลลาร์ แต่ก.ย.58 เหลือเพียง 466 ล้านดอลลาร์ เหล็ก ก.ย.57 มีมูลค่า 1,209 ล้านดอลลาร์ แต่ก.ย.58 เหลือเพียง 863 ล้านดอลลาร์ และทองคำ ก.ย.57 มีมูลค่า 1,210 ล้านดอลลาร์ แต่ก.ย.58 เหลือเพียง 214 ล้านดอลลาร์
นายสมเกียรติ กล่าวถึงแนวโน้มการส่งออกทั้งปีนี้ว่า หากในช่วง 3 เดือนที่เหลือสามารถส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละไม่ต่ำกว่า 19,000 ล้านดอลลาร์ ก็จะทำให้ทั้งปีนี้การส่งออกของไทยจะหดตัวอยู่ในช่วง -3.5 ถึง -4% อย่างไรก็ดี เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ แล้ว ยังถือว่าหดตัวนัอยกว่า โดยล่าสุดในเดือน ก.ย.58 พบว่าการส่งออกของเกือบทุกประเทศทั่วโลกมีการติดลบมากกว่าขยายตัว เช่น เกาหลีใต้ -6.4% ญี่ปุ่น -9.2% ออสเตรเลีย -21.8% สิงคโปร์ -14% สหรัฐ -6.1% ฝรั่งเศส -14.3% เป็นต้น
ขณะที่ตลาดส่งออก กลุ่ม CLMV ยังคงขยายตัวต่อเนื่อง และการส่งออกไปสหรัฐอเมริกากลับมาเป็นบวกอีกครั้ง ขณะที่จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (15) และอาเซียน (9) หดตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก การส่งออกไปยังตลาด CLMV ยังคงมีอัตราการขยายตัวต่อเนื่องสูง 4.7% (YoY) โดยเฉพาะกัมพูชา ลาว และเวียดนาม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการค้าชายแดน โดยสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกขยายตัวสูงขึ้น ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องดื่ม รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ และน้ำตาลทราย เป็นต้น
เช่นเดียวกับการส่งออกไปสหรัฐอเมริกา ที่กลับมาขยายตัวเป็นบวกอีกครั้ง โดยขยายตัว 1.1% (YoY) จากการขยายตัวของคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล เป็นต้น ขณะที่ตลาดหลักอย่าง จีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (15) และอาเซียน ลดลง -1.7% -6.9% -9.5% และ -11.8% (YoY) ตามลำดับ