“ส่วนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เคยยื่นภาษีไม่ครบหรือมีการปกปิดบัญชี จะโดนภาษีย้อนหลัง 2 เท่า ซึ่งกรมสรรพากรจะสรุปรายละเอียดออกเป็นมาตรการอีกครั้งภายในสิ้นปีนี้" นายประสงค์ กล่าว
ทั้งนี้ กรมสรรพากรยังเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการ SMEs ด้วยการถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำบัญชีอย่างง่ายให้กับ SMEs โดยร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนากกลางและขนาดย่อม (สสว.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และสภาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
อย่างไรก็ดี การเรียนรู้เรื่องการทำบัญชีตามหลักมาตรฐานนั้นกรมสรรพากรจะมีโปรแกรมบัญชีให้เบื้องต้น 2 พันแผ่น จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้สรรพากรรู้ถึงรายได้ ต้นทุน ค่าใช้จ่าย กำไรและขาดทุนจากการประกอบกิจการ สามารถวางแผนการลงทุนที่เหมาะสมให้กับธุรกิจได้ โดยที่ผ่านมากรมสรรพากรได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับธุรกิจ SMEs ด้วยการลดอัตราภาษีลงเหลือ 10% ของกำไรสุทธิ
อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาลที่ออกมาที่ให้สิทธิผู้ซื้อบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท สามารถนำ 20% ของมูลค่าบ้านไปใช้หักภาษีบุคคลธรรมดาได้เป็นระยะเวลา 5 ปีบัญชี และการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 20% เป็นการถาวรนั้น จะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากรอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ นายประสงค์ เปิดเผยว่า กรมสรรพากรเตรียมสรุปแนวทางในการปรับลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาลงจากปัจจุบันจัดเก็บในอัตราสูงสุดที่ 35% ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในต้นปี 59 เพื่อเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาต่อไป
ทั้งนี้ เบื้องต้นแนวทางการปรับลดอัตราภาษีดังกล่าวจะดำเนินการแบบเป็นขั้นบันได แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้ เนื่องจากยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา ซึ่งรวมถึงการศึกษาอัตราภาษีบุคคลธรรมดาในกลุ่มประเทศอาเซียนด้วย
“อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาใหม่จะมีผลต่อการจัดเก็บรายได้ของกรมในปีงบประมาณ 59 ที่ตั้งเป้าหมายจัดเก็บไว้ที่ 1.79 ล้านล้านบาท ส่วนจะทำให้การจัดเก็บเพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างไรนั้นยังไม่สามารถตอบได้ คงต้องรอสรุปตัวเลขอีกครั้ง" นายประสงค์ กล่าว