นบข.ไฟเขียวทยอยระบายข้าวเกรดซี/ธ.ก.ส.ชงมาตรการช่วยนาปี 58/59 เข้าครม.พรุ่งนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 26, 2015 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.ส.ชุติมา บุณยประภัศร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าว (นบข.)ว่า ได้รายงานความคืบหน้าการระบายข้าวเสื่อมคุณภาพ(ข้าวเกรดซี) หลังจากคณะกรรมการระดับจังหวัดลงพื้นที่ตรวจสภาพข้าวในคลังทั่วประเทศสามารถตรวจสอบได้แล้วกว่า 95% จำนวน 1,003 คลัง แบ่งเป็น ข้าวที่ปนกันระหว่างข้าวดีและข้าวเสีย สามารถแยกประเภทข้าวได้ มีปริมาณ 9 ล้านตัน ที่ประชุมมีมติว่า เมื่อแยกประเภทข้าวเสร็จสามารถนำข้าวเสียระบายสู่ภาคอุตสาหกรรมได้ แต่จะเริ่มระบายข้าวในช่วงเดือนมี.ค.หลังจากระบายข้าวในช่วงฤดูกาลใหม่ เพื่อไม่ให้เป็นการทำลายกลไกราคาข้าว

ส่วนข้าวที่ปนกันอยู่ไม่สามารถแยกประเภทข้าวได้ ตรวจสอบเสร็จแล้ว 176 คลัง มีปริมาณข้าว 2 ล้านตัน ที่ประชุม นบข.มีมติเห็นชอบในหลักการให้มีการระบายข้าวได้ เพื่อลดค่าใช้จ่ายของรัฐบาลและแก้ไขปัญหาคุณภาพข้าวไม่ให้เสื่อมคุณภาพไปมากกว่านี้ แต่ต้องมีมาตรการควบคุมไม่ให้มีการนำข้าวในส่วนนี้กลับเข้าสู่ระบบการค้าปกติ

ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จะสามารถระบายข้าวได้ หลังจากมีหนังสือยืนยันการตรวจสอบโกดังข้าวจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ(สตช.) ซึ่งคาดว่าจะส่งมาภายในสิ้นเดือนต.ค.นี้ ก่อนที่ทางคณะกรรมการระบายข้าวจะมีการนัดประชุมเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการประมูลหรือขายข้าวในจำนวนนี้ต่อไป นอกจากนี้ ยังมีข้าวที่อยู่ระหว่างแผนการรมยาที่ยังไม่สามารถตรวจสอบได้อีก 2 ล้านตัน

สำหรับปริมาณข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2558/2559 นั้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รายงานว่าจะมีปริมาณข้าวประมาณ 12.7 ล้านตัน แบ่งเป็น ข้าวหอม 6 ล้านตัน, ข้าวเหนียว 6.7 ล้านตัน และข้าวเจ้า 10 ล้านตัน

ด้านนายสุพัฒน์ เอี้ยวฉาย ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุม นบข.มีมติให้ออกมาตรการโครงการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ฤดูการผลิต 2558/2559 และรักษาเสถียรภาพราคาข้าวหรือมาตรการจำนำยุ้งฉาง 3 โครงการที่จะนำเสนอ ครม.ในวันพรุ่งนี้(27 ต.ค.)

1.มาตรการลดดอกเบี้ยเงินกู้ให้กับชาวนาที่เป็นสมาชิกสหกรณ์การเกษตรและขึ้นทะเบียนชาวนาไว้กว่า 1 ล้านครอบครัว ในอัตราร้อยละ 3 ในระยะ 6 เดือน เริ่ม 1 เมษายน 2559 โดยมีกรอบวงเงิน 975 ล้านบาท

2.มาตรการดูแลระบบสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชน ให้มีขีดความสามารถช่วยดูดซับปริมาณข้าวเปลือก โดยธ.ก.ส.จะอำนวยสินเชื่อให้สหกรณ์การเกษตรและวิสาหกิจชุมชน เพื่อนำเงินไปรวบรวมข้าวเปลือกจากสมาชิก รวบรวมเพื่อรอการขาย และรวบรวมมาแปรสีจากข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร กรอบวงเงิน 12,500 ล้านบาท

3.สินเชื่อเพื่อรอการขายข้าว ฤดูการผลิตปี 2558-2559 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ปลูกข้าวเหนียวและข้าวหอมมะลิ และมียุ้งฉางเป็นของตัวเอง สามารถรับสินเชื่อจาก ธ.ก.ส.โดยมีเป้าหมายที่ 2 ล้านตันข้าวเปลือก กรอบวงเงิน 26,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ