อย่างไรก็ดี ในปี 59 อีไอซีคาดว่ามูลค่าการส่งออกของไทยจะกลับมาขยายตัวได้เพียงเล็กน้อยที่ 0-2% จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป อีกทั้งการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศ CLMV ที่มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามอุปสงค์ในประเทศที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมถึงค่าเงินบาทที่มีทิศทางอ่อนค่าลงในปีหน้าจะช่วยผลักดันการส่งออกของไทยในระยะต่อไป
กระทรวงพาณิชย์ รายงานมูลค่าการส่งออกไทยเดือนก.ย.หดตัวเป็นเดือนที่ 9 โดยอยู่ที่ 18,815.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ลดลง 5.5% ส่งผลให้ในไตรมาส 3 มูลค่าการส่งออกของไทยหดตัวแล้วกว่า 5.3% ด้านการนำเข้าเดือนก.ย.ปรับลดลงกว่า 26.2% มาอยู่ที่ 16,021.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ในไตรมาส 3 มูลค่านำเข้าลดลงกว่า 15.3% ทั้งนี้ มูลค่าการนำเข้าที่ลดลงรุนแรงส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ากว่า 2,794 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากสุดในรอบ 5 ปี และทำให้ในไตรมาส 3 ไทยเกินดุลการค้ารวมทั้งสิ้น 4,285.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
SCB EIC ระบุว่า มูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนก.ย. ยังคงได้รับผลกระทบจากราคาน้ำมันโลกที่หดตัวต่อเนื่องและปัญหาเชิงโครงสร้างของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ โดยราคาน้ำมันดิบดูไบลดลงราว 54% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันเมื่อปีก่อนหน้า ทั้งนี้ราคาน้ำมันโลกที่ยังคงมีทิศทางลดลงได้ส่งผลถึงมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เชื่อมโยงกับน้ำมัน อย่างน้ำมันสำเร็จรูป และเคมีภัณฑ์และพลาสติกให้ลดลงราว 46% และ 21% ตามลำดับ
อีกทั้งราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ตกต่ำยังส่งผลกระทบให้การส่งออกสินค้าเกษตรของไทยให้หดตัวลง โดยมูลค่าการส่งออกยางพาราหดตัวลง 7.4% และข้าวลดลง 28.8% ส่วนหนึ่งจากการเร่งระบายข้าวในปี 57 ของรัฐบาล นอกจากนี้ การส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบหดตัวลงอีก 5.2% ในเดือนก.ย. เนื่องจากการส่งออกสินค้าที่ล้าสมัย ด้านการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยถูกกดดันต่อเนื่องด้วยการย้ายฐานการผลิตของโทรทัศน์และส่วนประกอบ โดยมูลค่าการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าของไทยหดตัว 5.7%
การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบเป็นสินค้าหนึ่งในไม่กี่ประเภทที่ขยายตัวกว่า 20% ในเดือนก.ย. โดยมูลค่าการส่งออกรถยนต์ขยายตัวติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3 จากการส่งออกรถยนต์นั่งที่เพิ่มขึ้นกว่า 144% ในเดือนก.ย. โดยการส่งออกรถยนต์นั่งไปยังตลาดหลักอย่าง ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ญี่ปุ่นและตะวันออกกลาง ขยายตัวในระดับสูง ประกอบกับการส่งออกรถยนต์นั่งไปยังตลาดใหม่ เช่น สหภาพยุโรปและอเมริกาใต้เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว โดยเฉพาะการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปที่เพิ่มขึ้น 118% จากความต้องการรถยนต์อีโคคาร์ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มูลค่าการส่งออกน้ำตาลในเดือนก.ย.ก็ขยายตัวกว่า 13.1% จากปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นกว่า 50%
สำหรับเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ยังคงกดดันการส่งออกของไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยมูลค่าการส่งออกของไทยไปยังจีนกลับมาหดตัวในเดือนก.ย.ที่ 1.7% ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจคู่ค้าอื่นๆ ของไทย โดยเฉพาะการส่งออกไปยังอาเซียน 5 และญี่ปุ่นที่มีสัดส่วนราว 27% ของการส่งออกทั้งหมดของไทย โดยในเดือนก.ย.การส่งออกไปยังตลาดดังกล่าวลดลงอีก 20.1% และ 6.9% ตามลำดับ
ด้านการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปได้รับผลกระทบจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี GSP ส่งผลให้การส่งออกไปตลาดยุโรปลดลงราว 8% ในเดือนก.ย. อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้น ทำให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปยังสหรัฐฯ กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ 1.1% ในขณะที่การส่งออกไปยังตลาด CLMV ยังขยายตัวต่อเนื่องที่ 4.7%
สำหรับมูลค่าการนำเข้าหดตัวรุนแรงในเดือนก.ย.จากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ลดลง อีกทั้งการนำเข้าสินค้าทุนที่กลับมาหดตัว มูลค่าการนำเข้าที่ไม่รวมทองคำหดตัวราว 23% ในเดือนก.ย. จากมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบลดลงกว่า 46% ตามทิศทางราคาน้ำมันโลก นอกจากนี้ มูลค่าการนำเข้าในเดือนก.ย.ยังถูกกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ทำให้มูลค่าการนำเข้าวัตถุดิบ (ที่ไม่รวมทองคำ) ลดลงกว่า 19% อีกทั้ง การนำเข้าสินค้าทุนที่ไม่รวมเครื่องบินและเรือกลับมาหดตัวอีกครั้งกว่า 11.7% จากการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบที่หดตัวราว 18% และเครื่องจักรไฟฟ้าที่หดตัวราว 6% สะท้อนให้เห็นถึงภาคการผลิตในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัว
ทั้งนี้ ด้วยราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่ยังคงมีทิศทางชะลอลงส่งผลให้ไทยยังคงเกินดุลการค้าถึง 2,794 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนก.ย. สูงสุดในรอบปี และในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ไทยเกินดุลการค้าแล้วกว่า 7,758.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งดุลการค้าที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปีนี้จะเป็นปัจจัยช่วยให้ไทยมีดุลบัญชีเดินสะพัดสูงสุดเป็นประวัติการณ์