PwC คาดจากนี้กรมสรรพากรจะตรวจสอบภาษีทุกรูปแบบอย่างเข้มข้นหลังรัฐจัดเก็บภาษีพลาดเป้า 4 ปีซ้อน โดยล่าสุดปีงบประมาณ 2558 พลาดเป้าหมาย 1 แสนล้านบาท โดยสรรพากรพลาดเป้าหนักสุดต่ำกว่าประมาณการ 2.35 แสนล้านบาท เหตุปรับโครงสร้างภาษีใหม่ และคงภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ในอัตรา 7% ต่อไปอีก 1 ปี รวมทั้งลดภาษีเงินได้นิติบุคคล ดังนั้น แนะนำให้ภาคธุรกิจและบุคคลเตรียมความพร้อมและรับมือให้ดี พร้อมคาดปีหน้ารัฐบาลคงภาษีมูลค่าเพิ่มต่อ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศ
นายสมบูรณ์ วีระวุฒิวงศ์ หัวหน้าหุ้นส่วนกรรมการอาวุโส และกรรมการบริหารสายงานภาษีและกฎหมาย บริษัท PWC ประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนากฎหมายและภาษีประจำปีครั้งที่ 17 ภายใต้ชื่อ การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นผ่านการวางแผนภาษีอย่างมีประสิทธิภาพ ในหัวข้อ "ปรับกลยุทธ์ด้านภาษี เพิ่มดีกรีรับมือการตรวจสอบ"ว่า ในปีงบประมาณหน้าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีทุกหน่วยงาน มีแนวโน้มตรวจสอบภาษีมากขึ้น ทั้งขั้นตอนการคืนเงินภาษีอาจใช้เวลามากขึ้นด้วย เพื่อให้การจัดเก็บภาษีเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ หลังจากไม่สามารถจัดเก็บรายได้ภาษีได้ตามเป้าหมายต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 4 ปี เป็นผลจากการลดภาษีเงินได้นิติบุคคล สภาพเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน รัฐจึงคงภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ที่ 7% และการลดอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
ทั้งนี้ แนะผู้ประกอบการเอกชนจะต้องมีความเตรียมความพร้อมมากขึ้น และประเมินสถานะทางภาษีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เข้าใจการเปลี่ยนแปลงต่างๆที่จำเป็น และดำเนินการตรวจสอบตนเอง เพื่อลดโอกาสในการตรวจพบความเสี่ยงในประเด็นที่อาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น สำรวจอัตราการเสียภาษีที่แท้จริงของบริษัท เปรียบเทียบกับอัตราภาษีที่ถูกต้องตามกฎหมาย ,วิเคราะห์ผลประกอบการของบริษัทว่ามีการเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยเพียงใด เพื่อให้บริษัทเอกชนสามารถกำหนดแนวทางการเสียภาษี เป็นต้น
"สิ่งที่เราสามารถจะเตรียมความพร้อมได้ เราก็จะต้องมาดูก่อนว่าสิ่งที่เรากรอกลงไป ถ้ามองในมุมมองของกรมสพรรพากร จะมีประเด็นการเสียภาษีอะไรบ้าง และควรประเมินถึงความเสี่ยงภาษีด้วย รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ และการตอบคำถามต่อกรมสพรรพากร เพื่อป้องกันการเรียกเก็บภาษีย้อนหลัง"นายสมบูรณ์ กล่าว
สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.)ระบุว่า การจัดเก็บรายได้รัฐบาลสุทธิปีงบประมาณ 2558 (ต.ค.57 ถึง ก.ย.58) จัดเก็บได้ 2.2 ล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการ 11.75 แสนล้านบาท หรือ 5.1% โดยยังพบว่าในปีงบประมาณ 2558 กรมสรรพากรจัดเก็บรายได้ภาษีต่ำสุดเพียง 1.73 ล้านล้านบาท จากเป้าหมายที่วางไว้ 1.96 ล้านล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมาย 12% สาเหตุหลักมาจากราคาน้ำมันดิบที่ลดลงตั้งแต่ปลายปี 57 ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้า ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และรายได้จากสัมปทานปิโตรเลียมจัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ
สำหรับนโยบายปฎิรูปภาษีในภาพรวม มองว่าเป็นเรื่องที่ดี เนื่องจากเป็นการสร้างขีดความสามารถของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการปรับอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล เป็นต้น ขณะที่อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่ยังมีอัตราภาษีอยู่ในระดับสูง มองว่าถ้าหากจะมีการปรับอัตราภาษีของบุคคลธรรมดาก็น่าจะให้อยู่ในระดับใกล้เคียงกันที่ 28% โดยปัจจุบันอัตราการเสียภาษีนิติบุคคลจะอยู่ที่ราว 20% และบุคคลธรรมดาอยู่ที่ 35%
ขณะที่มองว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax)น่าจะคงไว้ที่ 7% ต่อไปในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อภายในประเทศ ซึ่งหากมีการปรับขึ้นภาษีในช่วงเวลานี้ อาจเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศที่ยังอยู่ในภาวะเปราะบางได้ ดังนั้นภาคเอกชนและบุคคลทั่วไปต้องเตรียมพร้อม ทั้งด้านเอกสารและข้อมูลตั้งแต่วันนี้ ขณะที่การตรวจที่เข้มข้นอาจขยายผลไปยังภาษีประเภทอื่นๆ เช่น ภาษีเงินได้นิติบุคคล อีกด้วย
นายสมบูรณ์ กล่าวเพิ่มว่า กรณีที่ภาคเอกชนเสนอกรมสรรพากรให้มีการนิรโทษกรรมภาษีในส่วนของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีนั้น มองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น เนื่องด้วยกระบวนการยังคงมีข้อจำกัดค่อนข้างมาก แต่อย่างไรก็ตามรูปแบบและวิธีการยังไม่ออกมาชัดเจน ซึ่งอาจจะส่งผลต่อความกังวลของภาคเอกชนได้
"อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวเข้ามาสู่ในระบบได้ แต่จริงๆแล้วการนิรโทษกรรมก็อาจจะเป็นทางออก แต่ว่านโยบายหรือวิธีการมองดูแล้วไม่เหมาะสม ก็ต้องดูที่เจตนา ขณะเดียวกันผู้ประกอบการอาจจะนำไปใช้ได้ คือการปรับโครงสร้างองค์กร มีการโอนกิจการ หรือเปลี่ยนถ่ายกิจการที่มีปัญหาอยู่ ซึ่งก็อาจจะเป็นแนวทางหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้บอกว่าเป็นแนวทางที่เหมาะสม ก็ยังมีปัจจัยอื่นๆที่ต้องพิจารณาอยู่ เช่น เรื่องของมูลค่าจากการโอน ,จุดตั้งต้นของการบันทึกทางบัญชี"นายสมบูรณ์ กล่าว