ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีและค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะเป็นมาตรการชั่วคราว โดยสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2560 เพื่อเป็นการส่งเสริมให้กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) แปลงสภาพเป็นกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์
"รัฐบาลต้องการแปลงกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กอง 1 ให้เป็นกองทรัสต์ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม เพราะมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปัจจุบันมากกว่า" พล.ต.สรรเสริญ กล่าว
เนื่องจากในอดีตมีแต่กฎหมายเกี่ยวกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี 2535 ยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน จนกระทั่งปี 2550 จึงมี พ.ร.บ.ทรัสต์เพื่อธุรกรรมในตลาดทุน ออกมาบังคับใช้ ดังนั้นการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ทางสถาบันการเงินจะเปิดเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์(กอง 1) เวลาที่จะมีการซื้อขายหรือนำเงินไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อื่นก็ไม่สามารถดำเนินการได้เลย เพราะตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.2556 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มีข้อห้ามในการเพิ่มทุน กู้ยืม
นอกจากนี้ กรมที่ดินยังได้กำหนดมาตรการทางภาษีและค่าธรรมเนียมเพื่อจูงใจการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ผ่านกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ด้วยการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับการโอนทรัพย์สินจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไปเป็นกองทรัสต์ และยกเว้นภาษีเงินได้ขอผู้ถือหน่วยลงทุน
ตลอดจนลดค่าจดทะเบียนจาก 2% เหลือ 0.01% แต่ราคาประเมินทุนทรัพย์ต้องไม่เกิน 1 แสนบาท และลดค่าจำนองจาก 1% แต่ราคาไม่เกิน 2 แสนบาท เหลือ 0.01% แต่ราคาไม่เกิน 1 แสนบาท
สำหรับการแปลงสภาพจากกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง 1) ไปเป็นกองทรัสต์เป็นเพียงการเปลี่ยนรูปแบบทางกฎหมายของเครื่องมือในการระดมทุนเพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์เท่านั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจใด ๆ และการลงทุนในรูปแบบกองทรัสต์จะช่วยลดความบิดเบือนการใช้ช่องทางในการได้รับสิทธิประโยชน์เกินสมควรระวังการลงทุนโดยตรงในอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนผ่านกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ (กอง1)
การใช้กองทรัสต์เป็นเครื่องมือในการระดมทุนเพื่อลงทุนในอสังหาริมทรัพย์แล้ว จะทำให้ภาครัฐมีรายได้ภาษีและค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง