ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (WEO) ฉบับเดือนต.ค. 58 คาดการณ์มูลค่าการส่งออกรวมของโลกปี 58 ที่ 16,531 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวลดลง 11.17% จากปี 57 จากปัจจัยสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้า โดย IMF ได้ประกาศปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปีนี้อยู่ที่ 3.1% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินในปี 52 ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าการขยายตัวในปี 57 ที่ขยายตัว 3.4%
นอกจากนี้ IMF คาดการณ์ว่าราคาสินค้าส่งออกของโลกจะลดลงกว่า -16.9% ตามราคาน้ำมัน โดยคาดว่าในปี 58 น้ำมันดิบมีราคาเฉลี่ย 51.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงจากปี 57 ซึ่งมีราคาเฉลี่ย 96.25 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หรือคิดเป็นลดลง 46.4%
ข้อมูลของ Global Trade Atlas ปรากฏว่า ในช่วง 8 เดือน(ม.ค.-ส.ค.58) ประเทศต่างๆล้วนมีอัตราขยายตัวของมูลค่าการส่งออกติดลบทั้งสิ้น เช่น รัสเซีย (- 30.7%) ออสเตรเลีย (- 21.8%) นิวซีแลนด์ (- 17.6%) อินเดีย (- 15.3%) สิงคโปร์ (- 14%) ญี่ปุ่น (- 9.2%) เกาหลีใต้ (- 9.0%) สหรัฐอเมริกา (- 6.1%) ถือว่าประเทศไทยติดลบน้อยที่สุดเป็นอันดับ 4
จากสถานการณ์ดังกล่าวสะท้อนได้ว่าความสามารถทางการแข่งขันของไทยไม่ได้ลดลงตามมูลค่าส่งออก ประเทศไทยยังมีสถานการณ์การส่งออกอยู่ในเกณฑ์ที่ดีกว่าหลายประเทศ ซึ่งข้อมูลการนำเข้าของตลาดส่งออกล่าสุดแสดงว่าไทยยังคงรักษาส่วนแบ่งตลาด (Market Share) ในตลาดสำคัญไว้ได้
ขณะที่ข้อมูลล่าสุดถึงแม้ว่ามูลค่าการส่งออกของไทยเดือนก.ย.58 มีมูลค่าการส่งออก 18,816 ล้านเหรียญฯ หดตัว 5.26 แต่เมื่อพิจารณาในรูปเงินบาทพบว่ามีมูลค่าส่งออก 665,587 ล้านบาท ขยายตัว 5.52% ซึ่งถือว่าเป็นมูลค่าการส่งออกในรูปเงินบาทที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ จากการที่ค่าเงินบาทอ่อนลงกว่า 11.9% เมื่อเทียบกับเดือนก.ย.57 เป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้รายได้จากมูลค่าการส่งออกของไทยในรูปเงินบาทเพิ่มขึ้น ทั้งนี้หากไม่รวมสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมันและทองคำมูลค่าการส่งออกของไทยในรูปเงินบาทจะขยายตัวสูงถึง 8.2% และภาพรวม 8 เดือน (ม.ค.-ก.ย.58) จะยังขยายตัวที่ 0.2%
นอกจากนี้เมื่อพิจารณาถึงมูลค่าดุลการค้าของไทยช่วง 8 เดือนพบว่าในรูปเงินบาทไทยได้ดุลการค้าสะสมกว่า 201,113 ล้านบาท เป็นระดับมูลค่าดุลการค้าสูงสุดในรอบ 6 ปีเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีอื่นๆในอดีต ทำให้คาดการณ์ว่าภาพรวมดุลการค้าของไทยปี 58 จะกลับมาเกินดุลอีกครั้งในรอบ 5 ปี