(เพิ่มเติม) ดัชนี MPI ก.ย.58 หดตัว -3.6% มาที่ 159.97 จาก 165.99 ใน ก.ย.57

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 30, 2015 11:40 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) เดือน ก.ย.58 หดตัว -3.6% อยู่ที่ 159.97 จาก 165.99 ในเดือน ก.ย.57 ด้านอัตราการใช้กำลังผลิตเดือน ก.ย.58 อยู่ที่ 58.83% จากระดับ 60.97% ในเดือน ก.ย.57

นายณัฐพล รังสิตพล รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนี MPI เดือน ก.ย.58 หดตัวร้อยละ 3.6 อุตสาหกรรมสำคัญที่ลดลงอาทิ HDD เครื่องนุ่งห่ม โทรทัศน์ ผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำ และเบียร์ อย่างไรก็ตามอุตสาหกรรมรถยนต์ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมรถยนต์ มีการผลิตรถยนต์จำนวน 171,496 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 4.38% การจำหน่ายรถยนต์ในประเทศ มีจำนวน 61,869 คัน ลดลง 10.51% และ การส่งออกรถยนต์ มีจำนวน 124,952 คัน เพิ่มขึ้น 28.06% โดยการส่งออกรถยนต์นั่งมี จำนวน 45,762 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 31.08% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบอเมริกาเหนือ ยุโรป และโอเชียเนีย ส่วนการส่งออกรถกระบะ 1 ตันและ PPV จำนวน 79,190 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 26.38% ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นในประเทศแถบเอเชีย โอเชียเนีย และตะวันออกกลาง

อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวลดลง 7.52% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมาจากอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ ปรับตัวลดลง 6.29% สินค้าอิเล็กทรอนิกส์เกือบทั้งหมดปรับตัวลดลง เช่น HDD Monolithic IC และ Semiconductor ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.35 2.71 และ 10.01 ตามลำดับ เนื่องจากความต้องการคอมพิวเตอร์และโน้ตบุ๊กในตลาดโลกลดลง ประกอบกับเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในตลาดโลกลดลง

ขณะที่อุตสาหกรรมไฟฟ้าปรับตัวลดลง 13.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า ส่วนใหญ่ปรับตัวลดลง เช่น คอมเพรสเซอร์ ตู้เย็น และเครื่องรับโทรทัศน์ ลดลง 11.61% 3.01% และ 78.74% ตามลำดับ เนื่องจากกำลังซื้อในประเทศชะลอตัวลง จึงส่งผลให้ความต้องการเครื่องใช้ไฟฟ้าลดลงตามไปด้วย สำหรับเครื่องรับโทรทัศน์มีผู้ผลิตบางรายย้ายฐานการผลิตไปประเทศในกลุ่มอาเซียน ยกเว้นเครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนคอนเดนซิ่งยูนิต เครื่องปรับอากาศแบบแยกส่วนแฟนคอยล์ยูนิต เพิ่มขึ้น 6.58% และ 14.30% เนื่องจากได้รับคำสั่งซื้อจากสหภาพยุโรปเพิ่มมากขึ้น

สำหรับอุตสาหกรรมเหล็กและเหล็กกล้าการบริโภคเหล็กของไทยมีปริมาณ 1.45 ล้านตัน ลดลง 4.61% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การผลิตมีปริมาณ 0.55 ล้านตัน ลดลง 14.06% การส่งออกมีมูลค่า 48 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 42.86% การนำเข้า 598 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลง 27.34% เนื่องจากภาพรวมสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศที่ยังคงชะลอตัวอยู่ จึงทำให้กำลังซื้อของภาคเอกชนลดลง และเมื่อพิจารณาการลดลงของการผลิตกับการบริโภคจะเห็นว่าการผลิตลดลงมากกว่า เนื่องจากมีการนำเข้าเหล็กจากประเทศจีนซึ่งปัจจุบันประสบปัญหา over supply ส่งสินค้ามายังประเทศต่างๆ ของโลก แต่เมื่อพิจารณามูลค่าการนำเข้า พบว่ามีทิศทางที่ลดลงส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากราคาเหล็กในตลาดโลกที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง

เมื่อพิจารณาผลิตภัณฑ์ พบว่าเหล็กทรงแบนมีการบริโภคลดลง ร้อยละ 5.89 โดยเหล็กเคลือบโครเมียม (Tin free) ลดลง 52.08% และเหล็กแผ่นเคลือบดีบุก (Tin plate) ลดลง 29.62% เนื่องจากอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์กระป๋องประสบปัญหา เช่น สับปะรดกระป๋อง ประสบปัญหาภัยแล้งจึงขาดแคลนวัตถุดิบ ในขณะที่ทูน่ากระป๋อง ประสบปัญหาเนื่องจากมีการส่งออกไปยังตลาดหลัก คือ สหรัฐอเมริกา ที่ลดลง

สำหรับเหล็กทรงยาว การบริโภคลดลงร้อยละ 2.89 โดยเหล็กลวด ลดลง 6.44%, เหล็กเส้นและเหล็กโครงสร้างรูปพรรณ การบริโภคลดลง 5.65% เนื่องจากสถานการณ์อุตสาหกรรมก่อสร้างชะลอตัว ประกอบกับการแข่งขันกับเหล็กราคาถูกจากประเทศจีน ส่งผลให้ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถแข่งขันได้

ในส่วนของอุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มการผลิตเส้นใยสิ่งทอผ้าผืนลดลง 4.20% และ 1.64% ตามลำดับ เนื่องจากการชะลอตัวของภาวะเศรษฐกิจภายใน ส่งผลให้ผู้ประกอบการชะลอการผลิตลงตามความต้องการที่ถดถอย ประกอบกับบางส่วนมีการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อตอบสนองความต้องการที่หลากหลายในผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถผลิตได้ ในส่วนเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง 12.52% จากคำสั่งซื้อของตลาดอาเซียน และสหภาพยุโรปซึ่งอยู่ในภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว

ส่วนการส่งออก ในเดือน ก.ย.58 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน มีมูลค่าลดลงในผลิตภัณฑ์เส้นใยสิ่งทอ 9.50% จากความต้องการในตลาดคู่ค้าลดลงได้แก่ อินโดนีเซีย จีน อินเดีย และปากีสถาน ผลิตภัณฑ์ผ้าผืน มีมูลค่าการส่งออกลดลง 8.86% ในตลาดอาเซียน ได้แก่ เวียดนาม และสปป.ลาว และเสื้อผ้าสำเร็จรูปลดลง 4.12% จากคำสั่งซื้อในตลาดสหภาพยุโรป และอาเซียนลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว

สำหรับอุตสาหกรรมอาหารการผลิตในภาพรวมปรับตัวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย 2.3% เนื่องจากสินค้าน้ำตาล ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก รวมถึงการผลิตสินค้าหลักอื่นๆ มีทิศทางเพิ่ม เช่น สินค้าปศุสัตว์ (ไก่และสัตว์ปีก) และผลิตภัณฑ์นม แต่สินค้ากลุ่มประมง และสินค้าผักผลไม้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง

ส่วนมูลค่าการส่งออกในภาพรวมลดลงจากปีก่อน 10.8% จากผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศผู้นำเข้ายังคงชะลอตัว ทำให้มูลค่าการส่งออกลดลง และระดับราคาสินค้าในตลาดโลกปรับลดลงตามราคาน้ำมัน รวมถึงผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP ของสหภาพยุโรป และปัญหาภาวะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่ซบเซาขยายตัวไปยังเศรษฐกิจประเทศอื่น รวมถึงการเติบโตในอัตราที่ลดลงของเศรษฐกิจจีน ส่วนภาวะการใช้จ่ายในประเทศที่ยังทรงตัวจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังได้รับผลกระทบจากอำนาจซื้อในประเทศชะลอตัวลง

รองผู้อำนวยการ สศอ. กล่าวด้วยว่า ดัชนีอุตสาหกรรมที่ใช้อยู่ในปัจจุบันจะใช้จนถึงข้อมูลเดือน ก.ย.58 เป็นเดือนสุดท้าย และเมื่อขึ้นปีงบประมาณใหม่ สศอ.จะปรับปรุงดัชนีให้สะท้อนโครงสร้างอุตสาหกรรมในปัจจุบันมากยิ่งขึ้น โดยจะเริ่มใช้ดัชนีที่ปรับปรุงใหม่ตั้งแต่ข้อมูล เดือน ต.ค.58 เป็นต้นไป เนื่องจากโครงสร้างของภาคอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันและสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในโลกได้เปลี่ยนแปลงไปมาก สศอ. จึงมีความจำเป็นต้องปรับปรุงดัชนีให้สะท้อนโครงสร้างอุตสาหกรรมในปัจจุบันให้มากขึ้น และครอบคลุมสินค้าอุตสาหกรรมให้กว้างขวางและทันสมัยขึ้น ซึ่งการปรับปรุงในครั้งนี้จะส่งผลให้ดัชนีมีความแม่นยำในการชี้วัดภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมของไทยมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบัน ดัชนี MPI จะคำนวณจากดัชนีปีฐาน 43 ซึ่งประกอบด้วย 53 อุตสาหกรรม และ 216 ผลิตภัณฑ์ แต่เนื่องด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปมากจากปีฐานนี้ จึงจำเป็นที่จะต้องมีการปรับปีฐานของดัชนีให้สะท้อนโครงสร้างอุตสาหกรรมปัจจุบันมากยิ่งขึ้นด้วย โดยดัชนีอุตสาหกรรมซึ่งมีการปรับปีฐานใหม่นี้จะเพิ่มจำนวนอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมโครงสร้างอุตสาหกรรมไทยในปัจจุบันซึ่งประกอบด้วย 60 อุตสาหกรรม และ 230 ผลิตภัณฑ์

"การปรับปรุงในครั้งนี้ น่าจะทำให้ผู้ใช้งานมีดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมที่มีความมั่นใจได้ถึงความทันสมัย ครอบคลุม และแม่นยำ อันจะส่งผลถึงการสะท้อนภาวะเศรษฐกิจอุตสาหกรรมในประเทศไทยที่แม่นยำ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการกำหนดแผนและนโยบายของภาครัฐและเอกชนต่อไป" นายณัฐพล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ