ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จีดีพีของไทยในไตรมาสที่ 3/2558 และไตรมาสที่ 4/2558 อาจขยายตัวที่ร้อยละ 0.5 (QoQ, s.a.) และร้อยละ 1.0 (QoQ, s.a.) ตามลำดับ ดีขึ้นกว่าค่าเฉลี่ยในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งอยู่ที่ประมาณร้อยละ 0.4 (QoQ, s.a.) โดยประเมินว่าเศรษฐกิจไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปี อาจได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวดีต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ตลอดจนมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งภาครัฐเริ่มผลักดันตั้งแต่ในช่วงปลายไตรมาส 3/2558 ขณะที่การเร่งการใช้จ่ายเม็ดเงินภายใต้งบประมาณและโครงการลงทุนต่างๆ ของรัฐบาล ก็น่าจะช่วยผลักดันให้อุปสงค์ภายในประเทศทยอยปรับตัวในทิศทางที่ดีขึ้น และชดเชยแรงฉุดจากการหดตัวของภาคการส่งออก และการผลิตภาคอุตสาหกรรมของไทย ซึ่งยังคงเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบจากสัญญาณความเปราะบางของเศรษฐกิจโลก
"สำหรับภาพรวมเศรษฐกิจทั้งปี 2558 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ยังคงคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2558 น่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 (กรอบร้อยละ 2.3-3.1) โดยแม้ความไม่แน่นอนในทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก จะยังคงเป็นปัจจัยลบของภาคการส่งออกในช่วงที่เหลือของปี ซึ่งส่งผลทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงมีภาพที่ไม่ครอบคลุมไปในทุกภาคส่วน" เอกสารเผยแพร่ ระบุ
อย่างไรก็ดี กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศบางส่วนอาจทยอยได้รับอานิสงส์จากการเร่งใช้จ่ายของภาครัฐ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ถูกผลักดันเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้นในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็น่าจะกลับมามีสีสันมากขึ้นในช่วงใกล้สิ้นปี
ทั้งนี้ แม้เศรษฐกิจไทยในปี 2558 อาจสามารถขยายตัวในอัตราที่ดีขึ้นกว่าในปี 2557 แต่คงต้องยอมรับว่ายังคงมีภาพที่แฝงไปด้วยผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ปัญหาเชิงโครงสร้างและภัยแล้งในประเทศ ซึ่งเป็นโจทย์ที่หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต้องแก้ไขร่วมกัน