พลังงานคาดราคาน้ำมันขายปลีกเดือนพ.ย.ทรงตัวถึงลดลง หลังซัพพลายล้น

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday November 1, 2015 09:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวลิต พิชาลัย รองปลัดกระทรวงพลังงาน คาดว่าราคาน้ำมันขายปลีกของประเทศในช่วงเดือนพ.ย.นี้ มีแนวโน้มที่ราคาจะอยู่ในระดับทรงตัว และหากไม่มีกรณีฉุกเฉิน เช่น การเกิดสงครามในประเทศซีเรียอย่างรุนแรง คาดว่าราคาน้ำมันขายปลีกอาจยังมีโอกาสปรับตัวลดลงได้ ทั้งในกลุ่มราคาน้ำมันเบนซิน ,แก๊สโซฮอล์ และน้ำมันดีเซลซึ่งถือเป็นเชื้อเพลิงสำคัญในภาคขนส่งและต่อภาคอุตสาหกรรม โดยน่าจะส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการจะกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันน่าจะไม่มีราคาสูงมากนัก มาจากสถานการณ์ราคาน้ำมันตลาดโลก ที่มีผลกระทบต่อราคาขายปลีกในประเทศไทย โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบ ดูไบจะมีราคาอยู่ระหว่างประมาณ 55-60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และจากรายงานของทบวงพลังงานโลก (IEA) ในเดือนก.ย.58 พบว่าข้อมูลการผลิตน้ำมันโลก (Supply) ยังมีอยู่ระดับ 96.76 ล้านบาร์เรล/วัน ยังคงเกินกว่าความต้องการใช้ (Demand) ที่ระดับ 95.17 บาร์เรล/วัน รวมทั้งยังมีปัจจัยบวก จากกรณีที่อิหร่านจะสามารถส่งออกน้ำมันได้เพิ่มอีกหลังจากยกเลิกการคว่ำบาตร ก็เชื่อว่าสถานการณ์โลกยังน่ามีแนวโน้มทรงตัวต่อไปอีกระยะ

นายชวลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการส่งต่อข้อมูลเปรียบเทียบราคาน้ำมันขายปลีกของไทย และประเทศมาเลเซีย ผ่านทางโซเชี่ยลมีเดีย และมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า เป็นราคาที่บริษัทน้ำมันของไทยเอาเปรียบผู้บริโภคนั้น กระทรวงพลังงานขอให้ประชาชนที่ได้รับการส่งต่อข้อความลักษณะนี้ โปรดใช้วิจารณญาณการรับสื่อและอย่าหลงเชื่อ เพราะเป็นการส่งต่อข้อมูลที่มีความบิดเบือนจากข้อเท็จจริง โดยเบื้องต้น ราคาน้ำมันของประเทศมาเลเซีย และไทย แม้จะมีพื้นฐานราคาตั้งต้นใกล้เคียงกัน แต่รัฐบาลมาเลเซียมีการอุดหนุนราคาขายปลีกจำหน่ายหน้าสถานีบริการอยู่ ขณะที่ไทยได้มีนโยบายแน่ชัดในการปรับโครงสร้างราคาเชื้อเพลิง และได้ทยอยยกเลิกการอุดหนุนราคาน้ำมันขายปลีกตั้งแต่ปี 57 เป็นต้นมา

รวมทั้ง เหตุผลสำคัญที่ประเทศไทยได้กำหนดโครงสร้างภาษีต่างๆ ในราคาน้ำมันขายปลีก ซึ่งจากข้อมูลที่ส่งต่อกันจะเปรียบเทียบราคาเบนซิน 95 ซึ่งถือเป็นกลุ่มน้ำมันที่มีการเรียกเก็บภาษีและกองทุนน้ำมันสูงถึง 14.75 บาท/ลิตร และหากประเทศไทยจะยกเลิกไม่เรียกเก็บภาษีใดๆ เลย จะเกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจมากกว่าผลดี คือ รัฐบาลต้องสูญเสียรายได้มหาศาล พลังงานทดแทนจะไม่ได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง และประชาชนก็จะใช้พลังงานอย่างไม่มีประสิทธิภาพ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ