"ต้องดูผลเลือกตั้งก่อนว่าจะออกมาเป็นอย่างไร แต่คิดว่าคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงรุนแรง ไม่ว่าใครจะมา ต่างก็อยากให้ประเทศมีเสถียรภาพ" นายไชยฤทธิ์ กล่าว
สำหรับการให้บริการของสาขาย่างกุ้งนั้น ทางธนาคารฯ มุ่งหวังให้เป็นสถาบันการเงินที่นักธุรกิจไทยซึ่งจะเข้ามาลงทุนในเมียนมาร์นึกถึง นอกเหนือจากลูกค้าท้องถิ่นและนักลงทุนต่างชาติที่เคยเป็นลูกค้าของธนาคาร เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง ไต้หวัน ขณะเดียวกันประเทศเมียนมาร์มีศักยภาพที่จำนวนประชากรเกือบ 60 ล้านคน และยังมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การลงทุนด้านต่างๆ
"เรามุ่งหวังเป็นธนาคารในภูมิภาค หากนักธุรกิจไทยจะเข้ามาลงทุนในเมียนมาร์ก็ขอให้นึกถึงธนาคารกรุงเทพ...เรามีความพร้อมมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะเตรียมการมา 20 ปีแล้ว" นายไชยฤทธิ์ กล่าว
ส่วนกรณีที่ทางการเมียนมาร์ยังใช้เงินจ๊าดของตัวเองในระบบเศรษฐกิจในประเทศนั้นจะเป็นผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
นายไชยฤทธิ์ กล่าวว่า การก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ในช่วงปลายปีนี้จะเป็นโอกาสดีสำหรับการขยายสาขาใน 10 ประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งมีเพียงประเทศบรูไนเพียงแห่งเดียวที่ธนาคารยังไม่ได้ไปเปิดให้บริการ
ขณะที่ นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ BBL กล่าวว่า หลังจากได้ใบอนุญาตเปิดสาขาเต็มรูปแบบจากธนาคารกลางเมียนมาร์และเป็นธนาคารแรกของไทยตั้งแต่เดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา คงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการขยายสินเชื่อให้นักลงทุนไทย นักลงทุนในภูมิภาคอาเซียน และชาวเมียนมาร์ โดยการให้บริการในระยะแรกส่วนใหญ่จะเป็นบริการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ อัตราแลกเปลี่ยน เปิดบัญชีชำระค่าสินค้าระหว่างประเทศ(แอลซี) ให้แก่นักลงทุนไทยและลูกค้าที่ส่งมาจากสาขาในภูมิภาค เช่น ธุรกิจการค้าประเภทสินค้าอุปโภคบริโภค การตั้งโรงงานผลิตสินค้า ก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐาน และพลังงาน แต่มีอุปสรรคในการขยายสินเชื่อคือชาวเมียนมาร์นิยมใช้จ่ายเงินสดซื้อสินค้าทุกชนิด
ด้านนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ BBL กล่าวว่า ขณะนี้นักลงทุนกำลังจับตาการเลือกตั้งของเมียนมาร์ แม้ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้นแต่นักลงทุนก็พร้อมจะลงทุน และมั่นใจว่าอีกไม่นานเมียนมาร์จะเข้าสู่ยุคทองอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิพุ่งขึ้นจากปัจจุบันที่ 8% เป็น 10% โดยในปีนี้ประเมินว่าจะมีเงินลงทุนโดยตรงไหลเข้าลงทุนในเมียนมาร์ราว 8,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เทียบปีที่แล้วอยู่ที่ 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ