ไทย-ศรีลังกา ตั้งเป้าเพิ่มมูลค่าการค้าให้ถึง 1 พันล้านดอลล์ในปี 59

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 2, 2015 14:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยผลหารือข้อราชการระหว่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กับนายไมตรีปาละ สิริเสนา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐสังคมนิยมศรีลังกา ยืนยันความร่วมมือกันในทุกด้าน และเตรียมนำคณะเอกชนจากไทยไปเยือนศรีลังกา เพื่อเพิ่มช่องทางการค้าการลงทุนมากขึ้น

โดยความร่วมมือและเป้าหมายทางเศรษฐกิจนั้น นายกรัฐมนตรีได้ชื่นชมการเติบโตทางเศรษฐกิจของศรีลังกาที่คาดว่า GDP ปีนี้จะโตถึงร้อยละ 7.8 จากแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ของศรีลังกา ทั้งนี้รัฐบาลไทยเองมุ่งมั่นที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืนและรอบด้าน โดยได้น้อมนำหลักการของปรัญชาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและความเข้มแข้งของระบบเศรษฐกิจและสังคมในการเผชิญความท้าทายจากสถานการณ์เศรษฐกิจ โดยไทยมียุทธศาสตร์ส่งเสริมการลงทุนในระยะ 7 ปี(2558-2564) โดยเน้นเพิ่มมูลค่าและปริมาณการลงทุนทั้งในประเทศและการลงทุนของไทยในต่างประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน เพื่อให้ไทยก้าวพ้นการเป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลาง และเติบโตอย่างยั่งยืน

นอกจากนี้ ไทยยังได้จัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ 5 จังหวัดนำร่อง โดยภารกิจเร่งด่วน คือ การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร และ SMEs ไทยและศรีลังยังสามารถร่วมมือกันในสินค้าและอุตสาหกรรมที่ทั้งสองฝ่ายมีศักยภาพอาทิ สิ่งทอ อัญมณี ชา และจะต้องเป็นความร่วมมือที่ครบวงจรเช่นศรีลังกามีวัตถุดิบอัญมณี ไทยมีทักษะและความชำนาญในการแปรรูป และการตลาด ทั้งสองประเทศสามารถเป็นหุ้นส่วนในการพัฒนาสินค้าประเภทอัญมณีสู่ตลาดต่างประเทศ โดยได้รับประโยชน์ร่วมกันอย่างเท่าเทียมและเป็นธรรม ขณะเดียวกันก็เป็นการลดการแข่งขันระหว่างกัน และเพิ่มพันธมิตรโดยการขยายความร่วมมือไปยังประเทศต่างๆ ให้มากขึ้น

ทั้งนี้เพื่อให้ทั้งสองประเทศสามารถบรรลุเป้าหมายเพิ่มมูลค่าการค้าให้ถึง 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2559 ด้านการลงทุน ซึ่งปัจจุบันมีเอกชนไทยหลายรายสนใจเข้าไปลงทุนในศรีลังกาแล้ว อาทิ สาขาสิ่งทอ การก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน และธุรกิจโรงแรม และเชื่อว่าการจัดเวที Business Forum, Business Matching เพื่อให้ผู้บริหารของบริษัทเอกชนไทยเข้าพบประธานาธิบดีศรีลังกาจะเป็นประโยชน์และรัฐบาลศรีลังกาจะให้สนับสนุนภาคเอกชนไทยที่เข้าไปลงทุนในศรีลังกาด้วย ความร่วมมือด้านเกษตรและประมง ไทยกับศรีลังกามีศักยภาพที่จะร่วมมือกันในการด้านเกษตรและประมง ทั้งในเชิงวิชาการและเชิงพาณิชย์ ความร่วมมือทางวิชาการด้านการประมง การแลกเปลี่ยนข้อมูลและงานวิจัย อาทิ การควบคุมโรคกุ้ง เพื่อพัฒนาสินค้าประมงให้มีคุณภาพร่วมกัน

ด้านความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว ไทยและศรีลังกาสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะทั้งสองประเทศสามารถส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงพุทธศาสนา โดยไทยยินดีแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับศรีลังกาในการพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว พร้อมจะผลักดันความร่วมมือภายใต้กรอบบันทึกความเข้าใจด้านการท่องเที่ยวเพื่อให้ผลเป็นรูปธรรม

ขณะเดียวกันไทยได้รับการยอมรับถึงมาตรฐานการท่องเที่ยวและการบริการด้านสุขภาพทั้งการแพทย์แผนปัจจุบัน แพทย์แผนไทยและความงาม สปา ในไทยที่คุ้มค่าใช้จ่าย ซึ่งชาวศรีลังกามาพักผ่อนและใช้บริการด้านสุขภาพในไทย

ส่วนความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงนั้นทั้ง 2 ประเทศยืนยันถึงความร่วมมือที่ใกล้ชิด ทั้งการฝึกอบรม การแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ซึ่งทั้งไทยและศรีลังกายังมีบทบาทในความร่วมมือเพื่อเผชิญหน้ากับความท้าทายในระดับภูมิภาค อาทิ การต่อต้านโจรสลัดและการปล้นเรือโดยใช้อาวุธในภูมิภาคด้วย

ความร่วมมือในระดับภูมิภาค ไทยให้ความสำคัญกับความร่วมมือในกรอบ BIMSTEC ตามนโยบาย Look West ของไทย เพราะเป็นเวทีที่มีประโยชน์ในการส่งเสริมความร่วมมือทั้งความมั่นคงและเศรษฐกิจ และเชื่อว่าไทยและศรีลังกาจะใช้ประโยชน์จากความตกลง BIMSTEC FTA เพื่อเป็นกลไกสำคัญที่จะกระตุ้นการค้าการลงทุนในภูมิภาคได้

ด้านนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มั่นใจในศักยภาพความร่วมมือระหว่างไทยและศรีลังกาทั้งในระดับเอกชน/เอกชน และภาครัฐ/ภาครัฐ โดยเฉพาะในสามสาขาหลัก ได้แก่ ท่องเที่ยวและการก่อสร้าง การเกษตรและอุตสาหกรรมและการประมง

โดยตนเองพร้อมที่จะนำคณะภาคเอกชนไทยเดินทางเยือนศรีลังกา(Trade Mission) เพื่อหาลู่ทางการค้าและการลงทุน ขณะเดียวกันก็จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-ศรีลังกา เพื่อผลักดันความร่วมมือในกรอบรัฐต่อรัฐต่อไป

ในโอกาสนี้ประธานาธิบดีศรีลังกาได้ชื่นชมวิสัยทัศน์และเชื่อมั่นว่าไทยจะประสบความสำเร็จในการปฏิรูปประเทศ และพร้อมที่จะส่งเสริมความร่วมมือไทยและศรีลังกาให้ครอบคลุมทุกมิติทั้งเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรมและศาสนา โดยเฉพาะพุทธศาสนาซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศที่มีมายาวนานกว่าศตวรรษ นอกจากนี้ ศรีลังกามีความสนใจที่เรียนรู้ความก้าวหน้าของไทยทั้งอุตสาหกรรมประมง การท่องเที่ยว ด้านเภสัชกรรมและพลังงาน และพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนประสบการณ์ความสำเร็จของไทยเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นในโครงการต่างๆ การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ โครงการหนึ่งตำบล หนึ่งสินค้า (OTOP) เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศเร่งติดตามความร่วมมือ โดยสามารถดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องได้ทันที เพื่อให้การหารือในวันนี้สัมฤทธิ์ผลและมีความก้าวหน้าอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็วต่อไป

นอกจากี้นี้ยังได้แสดงความยินดีกับพัฒนาการทางการเมืองในศรีลังกา ซึ่งเชื่อมั่นว่า ประธานาธิบดีศรีลังกาจะประสบความสำเร็จในการบริหารประเทศโดยใช้หลักธรรมาภิบาล และความก้าวหน้าในกระบวนการปรองดองแห่งชาติของศรีลังกา สำหรับพัฒนาการการเมืองไทยนั้น ไทยจะเดินหน้าจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปอย่างแน่นอน โดยคาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2560 และขณะนี้ไทยอยู่ระหว่างการดำเนินการตาม Roadmap เพื่อนำไปสู่การสร้างระบอบประชาธิปไตยที่มีความเข้มแข็ง มีเสถียรภาพ และสร้างสังคมที่มีความปรองดอง กระบวนการปฏิรูปประเทศจะต้องเกิดขึ้นจากคนไทยเพื่อนำไทยไปสู่ระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็งและมั่นคง โดยต้องเกิดจากความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม และรัฐบาลได้เน้นการปฏิรูปเบื้องต้นใน 11 ด้านสำคัญ ในการพัฒนาประเทศบนพื้นฐานประชารัฐ และสร้างความเข้มแข็งในประเทศและเพื่อประโยชน์ของคนไทยในระยะยาวต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ