ทั้งนี้ในเบื้องต้นได้แต่งตั้งคณะกรรมการกำกับและติดตามผลการเตรียมความพร้อมรองรับภารกิจตาม พ.ร.บ.หลักประกันทางธุรกิจฯ เช่น จัดตั้งสำนักงานทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจ เพื่อรับจดทะเบียน แก้ไขรายการ และยกเลิกการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ รวมทั้งเป็นคลังข้อมูลการจดทะเบียนหลักประกันฯ และผู้รับใบอนุญาตให้เป็นผู้บังคับหลักประกัน เพื่อให้ประชาชนตรวจสอบดูได้, ยกร่างกฎหมายลูก,ประกาศ,คำสั่งกระทรวงฯ และประกาศกรมฯ เพื่อรองรับการปฏิบัติงานตามกฎหมาย
นอกจากนี้ยังได้เตรียมพร้อมการจดทะเบียนหลักประกันทางออนไลน์แบบเรียลไทม์ เพื่อให้แจ้งข้อมูลเข้าระบบได้ทันที, สร้างความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผู้ให้หลักประกัน (ผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและเล็ก) ผู้รับหลักประกัน (สถาบันการเงิน) รวมถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทราบถึงทางเลือกใหม่ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยจะจัดสัมมนาให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าววันที่ 3 ธ.ค.นี้ อีกทั้งยังร่วมมือกับธนาคารโลก วางระบบด้านทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจด้วย
"กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจเป็นมิติใหม่ของวงการธุรกิจและภาคการเงินของไทย ทำให้เอสเอ็มอีนำทรัพย์สินที่มีมูลค่า ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจมาเป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้โดยไม่ต้องส่งมอบทรัพย์สินนั้น ทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และมากขึ้น รวมถึงยังเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย และน่าจะมีผลให้อันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจของไทย ที่จัดโดยธนาคารโลกดีขึ้นกว่าปีนี้" น.ส.ผ่องพรรณ กล่าว
ด้านนายชัยณรงค์ โชไชย ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันเอสเอ็มอีไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนยากมาก เพราะไม่มีหลักทรัพย์ที่นำมาเป็นหลักประกันกับสถาบันการเงินได้ แต่การมีกฎหมายหลักประกันฯ จะทำให้เอสเอ็มอีนำทรัพย์สิน มาใช้เป็นหลักประกันในการขอกู้เงินกับสถาบันการเงินได้ ทั้งกิจการ, สิทธิเรียกร้อง, สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง วัตถุดิบที่ผลิตสินค้า, ทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงอสังหาริมทรัพย์ ถือเป็นการปลดล็อคการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอีกว่า 2 ล้านราย จากปัจจุบันที่มีเอสเอ็มอีทั่วประเทศราว 2.8 ล้านราย ขณะเดียวกันจะมีการลงทุนและขยายการลงทุนมากขึ้น มีการจ้างงานมากขึ้น เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศดีขึ้น คาดว่า ในปีแรกที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ จะมีเอสเอ็มอีใช้ประโยชน์จากกฎหมายนี้ราว 10% ของทั้งหมดกว่า 2.8 ล้านราย
ด้านนางฟรานซิส อีเลน แม็กเอียเชิน ผู้เชี่ยวชาญด้านหลักประกันทางธุรกิจ บรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ(ไอเอฟซี) หน่วยงานภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารโลก กล่าวว่า กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจฯ นอกจากทำให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้นแล้ว ยังสร้างความโปร่งใสในภาคการเงินด้วยระบบทะเบียนหลักประกันทางธุรกิจอีกด้วย แต่จนถึงขณะนี้ ไม่สามารถบอกได้ว่า อันดับของไทย ใน Ease of Doing Business 2016 จะดีขึ้นหรือไม่ เพราะมีเกณฑ์ในการจัดอันดับ 10 ข้อ ซึ่งการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอี เป็นหนึ่งในเกณฑ์ดังกล่าว คาดว่า เมื่อกฎหมายบังคับใช้แล้ว ไทยจะได้คะแนนในเกณฑ์ข้อนี้มากขึ้นแน่นอน